การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอ 13 ร่างกฎหมายปฏิรูปการศึกษา


ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอ 13 ร่างกฎหมายปฏิรูปการศึกษา หวังขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบผู้ตรวจการแผ่นดิน เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาด้านการจัดการศึกษา คุณภาพมาตรฐานของการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติ จึงจัดทำข้อเสนอในการปฏิรูปการศึกษาชาติ โดยจัดตั้งคณะทำงานการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบ พร้อมเสนอร่างกฎหมาย 13 ฉบับเพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อสนับสนุนแนวนโยบายของรัฐบาลในการวางกรอบการปฏิรูปการศึกษาให้สัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติและต่อเนื่องยาวนานในอนาคต

 
 
 
ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน เล็งเห็นว่าเป็นประเด็นเรื่องการศึกษาประโยชน์สาธารณะและกระทบต่อพัฒนาการของประเทศ ซึ่งตามกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินในการที่จะหยิบยกมาพิจารณาได้ จึงริเริ่มเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งหวังและเล็งเห็นประโยชน์ของการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบในทุกระดับและทุกประเภท รวมถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพของผู้สอนและผู้เรียนด้วย เพื่อไม่ให้การศึกษาของไทยถดถอยลงเรื่อย ๆ ตลอดจนเป็นการสนับสนุนแนวนโยบายของรัฐบาล

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้เชิญคลังสมองด้านการศึกษาร่วมกันหาแนวทางและข้อเสนอแนะประเด็นต่าง ๆ โดยครอบคลุมทั้งเรื่องของการปรับปรุงกฎหมาย โครงสร้างหน่วยงานทางการศึกษา หลักสูตรการสอน การบริหารบุคคล การถ่ายโอนอำนาจให้สถานศึกษา และจากการรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่อง ทำให้พบว่าเกิดปัญหาทั้งระบบ อาทิ ปัญหาด้านงบประมาณที่ได้รับสูงแต่สวนทางกับประสิทธิภาพการใช้เงิน ด้านบุคลากรมีปริมาณมากกว่างานและมีกระบวนการทำงานที่ล่าช้า ด้านคุณภาพครูที่เร่งผลิตผลงานวิชาการแต่คุณภาพนักเรียนลดลง สถานศึกษาหลายแห่งยังขาดแคลนบุคลากรครูและมีสื่อการสอนที่ไม่ทันสมัย ครูและผู้บริหารละทิ้งโรงเรียน การบริหารงานบุคคลไม่ยุติธรรมโปร่งใส การศึกษานอกระบบยังไม่ทำให้ผู้จบการศึกษามีคุณภาพในด้านการแสวงหาความรู้ และทักษะต่างๆ ที่ตอบสนองตลาดแรงงาน ส่วนระดับอาชีวศึกษายังขาดแคลนผู้เรียนในหลายสาขา ขาดการฝึกงานจริงในสถานประกอบการที่มีเครื่องมือทันสมัย และมีแนวโน้มอยากปรับเป็นอุดมศึกษา สำหรับระดับอุดมศึกษามีการเปิดหลักสูตรจำนวนมากที่ไม่สนองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศและวัฒนธรรมไทย เป็นต้น
 
จากปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกระดับ ทุกประเภทการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานตั้งแต่ส่วนกลางถึงสถานศึกษา ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงจัดตั้งคณะทำงานการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบเพื่อเสนอแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบด้วยการเสนอร่างกฎหมายที่ปรับทั้งโครงสร้างการบริหารจัดการ การกระจายอำนาจ การจัดการเรื่องการสอน และตัวบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งสิ้นจำนวน 12 ฉบับ ดังนี้
 

 (1) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....
 
    โดยให้มีสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ (Super Board) ที่ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆที่จำเป็นการกำหนดนโยบายและการจัดการศึกษากรรมการ ผู้แทนขององค์กรภาคเอกชนผู้เกี่ยวข้องการการค้าและการลงทุน และกรรมการผู้แทนภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ซึ่งปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง โดยมีอำนาจในการกำหนดนโยบายการศึกษาของชาติทั้งระบบ ทุกระดับและทุกประเภทการให้ความเห็นชอบและตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของชาติติดตามตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายการศึกษาของชาติการกำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของสำนักงานสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งการจัดตั้งสำนักงานสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติให้มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองที่เป็นอิสระ
       
(2) ร่างพระราชบัญญัติการวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษา พ.ศ. ....
 
  เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษาแห่งชาติให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจในการศึกษา วิจัย และพัฒนาระบบการศึกษาและนโยบายการศึกษาของชาติในทุกระดับ ให้ทุนอุดหนุนศึกษาและวิจัยแก่บุคคลหรือคณะบุคคลในอำนาจหน้าที่ของสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษาแห่งชาติ
 

(3) ร่างพระราชบัญญัติการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการศึกษา พ.ศ. ....
  เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจศึกษา วิจัย พัฒนา และจัดทำหลักสูตรและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท เสนอการจัดทำหลักสูตรมาตรฐานในทุกประเภทและทุกระดับต่อสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(4) ร่างพระราชบัญญัติสถาบันครุศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....
 
 เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันครุศึกษาแห่งชาติให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจกำหนดทิศทางในการผลิตครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารการศึกษาของโรงเรียนและสถานศึกษาในระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา และจัดให้มีการอบรมการจัดการเรียนการสอนให้คณาจารย์และผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อเพิ่มเติมองค์ความรู้ด้านครุศึกษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอนอย่างเต็มศักยภาพ
 
 (5) ร่างพระราชบัญญัติการรับรองมาตรฐานการศึกษา พ.ศ. ....
 
 เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจในการทดสอบทางการศึกษา การประเมินคุณภาพการศึกษาในทุกระดับจัดให้มีการรับรองและไม่รับรองคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และการพิจารณาเสนอการพักใช้หรือปิดโรงเรียน สถานศึกษา และสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
 
 (6) ร่างพระราชบัญญัติการรับรองคุณวุฒิการศึกษา พ.ศ. ....
 
 เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานรับรองคุณวุฒิการศึกษาแห่งชาติให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจในการทดสอบและรับรองคุณวุฒิวิชาชีพครูและผู้บริหารการศึกษา การพักใช้และเพิกถอนการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพครู เป็นศูนย์ข้อมูลคุณวุฒิการศึกษาของผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับและทุกประเภท ตรวจสอบและรับรองการสำเร็จการศึกษาและคุณวุฒิการศึกษาของผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับและทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
 
 (7) ร่างพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. ....
 
 เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาตามนโยบายการศึกษาแห่งชาติ การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษาของรัฐกับภาคเอกชนผู้ใช้แรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ  เพื่อผลิตผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะตอบสนองต่อการประกอบการอุตสาหกรรมและ
 พาณิชยกรรมอย่างแท้จริง
 
 (8) ร่างพระราชบัญญัติการจัดการและบริหารการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....
 
 เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ กำหนดระยะเวลาในการถ่ายโอนอำนาจการจัดการศึกษาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกำหนดระดับและประเภทของการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การบริหารโรงเรียนและสถานศึกษาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และการอุดหนุนงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษาให้แก่โรงเรียนและสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       
(9) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา พ.ศ. ....
 
เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจการศึกษา วิจัย และผลิตนวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อใช้ในการเรียนการสอนที่คุณภาพและมาตรฐาน กำหนดการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาที่เหมาะสมกับระบบการศึกษาของชาติในทุกระดับและทุกประเภท นอกจากนี้กำหนดการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสื่อการสอนทุกระดับที่ทันสมัยและเหมาะสมกับการจัดการศึกษาจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก่การจัดการศึกษาในทุกระดับ รวมทั้งการประสานความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษากับผู้ประกอบการเอกชน
 
(10) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ....
 
 เป็นร่างกฎหมายที่จะให้อำนาจในการสร้างระบบงานการบริหารบุคคลเป็นของคณะกรรมการที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาในระดับต่างๆ การบรรจุ การแต่งตั้ง การโอน โยกย้าย การพัฒนา การเลื่อนระดับ การดำเนินการทางวินัย และการลงโทษ ที่เป็นไปตามระบบคุณธรรมทางวิชาชีพ
 
(11) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ....
 
เป็นร่างกฎหมายที่ปรับปรุงจัดระเบียบการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประกอบด้วยสำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นปฐมวัยและประถมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการมัธยมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภายใน ซึ่งต้องสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และหลักการการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาอย่างสมบูรณ์ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน และสถานศึกษา
 
 
(12) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการพิทักษ์ระบบคุณธรรมการศึกษา พ.ศ. ....
 
 เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมการศึกษา ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาในระดับต่างๆ และด้านอื่นที่จำเป็น มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์คำสั่งของผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานของรัฐที่จัดการศึกษาในทุกระดับและทุกประเภท การพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาตของสถานศึกษา และการไม่รับรองคุณวุฒิการศึกษา
 
ทั้งนี้ การเสนอร่างกฎหมายทั้ง 12 ฉบับดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จึงเห็นสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติด้วย โดยเสนอร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ขึ้นอีกหนึ่งฉบับ รวมเป็นการเสนอร่างกฎหมายทั้งหมด 13 ฉบับ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน โดยได้จัดทำร่างกฎหมายแล้วเสร็จ 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งซูเปอร์บอร์ดการศึกษาเพื่อดูแลการศึกษา ซึ่งเป็นมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งส่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ไปยังประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรรมาธิการการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ รองนายกรัฐมนตรี (ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพิจารณาผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเตรียมส่งร่างกฎหมายอีก 11 ฉบับโดยเร็ว สำหรับรายละเอียดร่างกฎหมายที่แล้วเสร็จทั้ง 2 ฉบับ สามารถติดตามได้ทาง www.ombudsman.go.th
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 มี.ค. 2558 เวลา : 12:55:00
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 9:30 am