เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
นายกฯ สั่งเกาะติดสถานการณ์เศรษฐกิจไทย


แม้เศรษฐกิจไทยจะกำลังอยู่ในช่วงเดือนที่ 3 ของปีนี้ แต่ต้องยอมรับว่าทิศทางเศรษฐกิจและการฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนสูง

 

 

สะท้อนจากการเปิดเผยของ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ระบุว่า การประชุมครม.เศรษฐกิจเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้มีการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างใกล้ชิด โดยสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นประจำทุกสัปดาห์ว่ามีการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญอย่างไรบ้าง รวมทั้งให้สรุปมติจากที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เพื่อรายงานให้ที่ประชุม ครม.ใหญ่รับทราบ และปฏิบัติตามแนวทางของที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ 


และยังได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2558 ให้มีอัตราการขยายตัวใกล้เคียงกับการขยายตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Countries) ซึ่งล่าสุด ธนาคารโลก (World Bank) ได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ลงเหลือ 4.3% จากเดิม 4.9% หรือ ปรับลดลง 0.6% 
เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่มีการลดการเจริญเติบโตลดลง จากเดิมที่เคยเติบโตในตัวเลข 2 หลัก เหลือเพียง 7% และในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ก็มีการปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจเหลือเพียง 6.8% 

 
 
 
สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 สศช. เชื่อว่า จะขยายตัวได้อย่างน้อย 3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.3% เป็นผลมาจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 การเบิกจ่ายงบประมาณทำได้ดีกว่าปีก่อน 6% ขณะเดียวกัน ครม.ได้อนุมัติงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำและการลงทุนโครงการปรับปรุงถนนของกรมทางหลวงและทางหลวงชนบท รวมกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งการวางแผนงบประมาณปี 2559 ที่ส่วนใหญ่เป็นงบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เห็นแนวโน้มชัดเจน ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้ดำเนินการลงทุนตามแผนงานที่วางไว้

นอกจากนี้ยังได้อานิสงส์จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม ได้ช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน 

 
 
 
ส่วนมุมมองของภาคเอกชน นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เชื่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปีนี้ ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว เนื่องจากรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ตรงจุด ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านมาเกือบ 1 ไตรมาสแล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้อง และ ภาคส่งออกซึ่งเป็นธุรกิจหลักสร้างรายได้ให้กับประเทศยังติดลบต่อเนื่อง

 
 
 
รวมทั้งปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นนักลงทุนหลักของไทย เริ่มย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นๆ แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการอย่างด่วน คือ ต้องแก้ไขค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง เพื่อผลักดันภาคการส่งออกของไทยให้พลิกฟื้นขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้เงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจน้อยมาก

ส่วนแนวโน้มกำลังซื้อของผู้บริโภคปีนี้ ยังไม่น่าจะกลับมาดี แต่จะฟื้นขึ้นหรือไม่ฟื้นนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งต้องดำเนินการในเชิงรุกมากกว่านี้

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 มี.ค. 2558 เวลา : 12:02:39
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 2:18 pm