เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และ ทีเอ็มบี ประสานเสียง คาดกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% เพื่อดูผลหลังลดลง 2 ครั้งติดเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่บล.อาร์เอชบี โอเอสเค (ประเทศไทย)มองต่างคาดกนง.ยังมีช่องให้ลดลงอีก 0.25%


 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 รอบที่ผ่านมา มีผลในตลาดการเงิน และการอ่อนค่าลงของค่าเงินบาท  น่าจะช่วยหนุนนำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าได้ แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่มีการรายงานออกมา ยังคงบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่อานิสงส์ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งที่ผ่านมา น่าจะเพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่งเพื่อรอแรงส่งจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังของภาครัฐ  ไม่ว่าจะเป็น การเร่งผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการลงทุนของเอกชน รวมทั้ง มาตรการในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในต่างจังหวัด

ขณะที่ กนง.น่าจะรอติดตามผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ภาคเศรษฐกิจจริงที่อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อันสอดคล้องกับความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ส่งสัญญาณถึงความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยมองว่านโยบายการเงินในปัจจุบันผ่อนคลายเพียงพอที่จะดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่การปรับลดดอกเบี้ยลงอีกจะกระทบต่อผู้ออมเงิน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุม กนง. 2 ครั้งก่อนหน้าติดต่อกัน

“ค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯปรับตัวอ่อนค่าลงกว่า 4% เมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนที่ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเป็นที่สังเกตได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา กนง.ให้ความสำคัญกับอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในการเป็นช่องทางส่งผ่านนโยบายการเงิน รวมถึงได้สื่อสารกับสาธารณชนมากขึ้นในเรื่องดังกล่าว”ศูนยวิจัยฯระบุ

ศูนย์วิจัยระบุอีกว่า การอ่อนค่าของเงินบาทน่าจะช่วยลดทอนแรงกดดันต่อภาคการส่งออกอันมีสัดส่วนเกือบ 70% ของเศรษฐกิจไทย รวมทั้ง สร้างแรงหนุนต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยหากพิจารณาจากดัชนีค่าเงินบาท (BIS NEER Index) จะพบว่าในปัจจุบันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มกับประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้ามากขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการกดดันภาคการส่งออกเพิ่มเติมจากปัจจัยท้าทายที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนไทยก็ทยอยปรับลดลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ กนง. ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุม เดือน มีนาคม และ เมษายนที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ประเภท MLR และ MRR  เฉลี่ยของธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง  ได้มีการปรับลดลง 0.24% และ 0.18% ตามลำดับ  ขณะที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนปรับลดลงประมาณ 0.2-0.5%  ทั้งนี้ ต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนที่ขยับลดลงดังกล่าว คงเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยทยอยปรับฟื้นตัวขึ้นในระยะข้างหน้า

“เมื่อมองไปข้างหน้า การส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปีนี้ อาจจะส่งผลให้ช่องว่างในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของไทยจำกัดมากขึ้น ทั้งนี้ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) นางเจเน็ต เยลเลน ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้  ซึ่งการส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะส่งผลให้ช่องว่างในการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของไทยอาจจะมีข้อจำกัดมากขึ้น เนื่องจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกอาจยังถูกครอบงำจากการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด อันอาจจะสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงิน และลดทอนผลของการส่งผ่านนโยบายการเงินของไทยในช่วงนั้น”ศูนย์วิจัยฯเปิดเผย

 ศูนย์วิจัยฯ ระบุอีกว่า เชื่อว่า กนง.จะติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อรอดูการส่งสัญญาณถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดที่คงจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วง 1-3 เดือนนี้  สำหรับปัจจัยอื่นที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2558 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ซึ่งจะสะท้อนมุมมองของ ธปท.ที่มีต่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ หากธปท.ไม่ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้จากระดับปัจจุบัน ที่ 3.8% มากนัก ก็อาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนโอกาสที่ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องในปีนี้ อย่างไรก็ดี หาก ธปท.ปรับลดการขยายตัวของจีดีพีจากประมาณการครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ หรือโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ ก็อาจจะบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่ทาง กนง.จะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกในระยะข้างหน้าได้

ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics  คาดว่าที่ประชุมกนง.ในครั้งนี้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% หลังจากปรับลดลงมา 2 ครั้งติดต่อกันแล้ว และน่าจะรอประเมินประสิทธิผล ทั้งนี้จากการที่ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 1.50%  ส่งผลให้ขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมมีอย่างจำกัด เพราะจากสถิติที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเคยแตะระดับต่ำสุดที่ 1.25% ในช่วงปี 2546 (หลังวิกฤตดอทคอม) และปี 2552 (หลังวิกฤตซับไพร์ม) ดังนั้นการปรับลดดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวจะทำให้อัตราดอกเบี้ยลงไปเท่ากับระดับต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา และหากประเมินผ่านเครื่องชี้เศรษฐกิจในสถานการณ์ปัจจุบัน

ด้านทีมเศรษฐศาสตร์ของบริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี โอเอสเค (ประเทศไทย) ระบุว่า  คาดว่ากนง.จะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25%  เนื่องจาก 4 เหตุผลสำคัญ 1.อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทยังแข็งค่าไป 2.ดัชนีภาคการผลิตที่ยังอ่อนแอต่อเนื่อง 3.ยังคงมีพื้นที่ในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากสถานการณ์เงินเฟ้อในขณะนี้ และ 4.การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ ที่คาดว่าธปท.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ที่อาจจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้

        
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 มิ.ย. 2558 เวลา : 11:59:44
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:25 pm