เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รับมือ"เอลนิโญ" เกิด"ภัยแล้ง" ช่วงฤดูฝน


"วิกฤตภัยแล้ง" น่าเป็นห่วงมากขึ้น หลังจากที่กรมชลประทานคาดการณ์ว่า ปริมาณฝนในปีนี้จะน้อยกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ หากเปรียบเทียบปริมาณฝนสะสมในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-7 มิ.ย. ตั้งแต่ปี 2524-2553 หรือ ค่าเฉลี่ย 30 ปี แสดงให้เห็นว่า ปริมาณน้ำฝนในปีนี้ "น้อยกว่าปกติ" ค่าเฉลี่ย 30 ปี โดยทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ ฝน 417 มม. ขณะที่ในปี 2558 ในช่วงเวลาเดียวกัน มีปริมาณน้ำฝน 283.4 มม. ซึ่งลดลงถึง 32% จากค่าเฉลี่ย

 

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยายังน่าห่วง เนื่องจากฝนตกน้อยมากต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันถึงร้อยละ 69 โดยฝนที่ตกลงมาในขณะนี้ ส่วนใหญ่จะตกท้ายเขื่อน ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
และเขื่อนป่าสักชลสิทธื์ เพียงวันละประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)เท่านั้น ในขณะที่ต้องระบายออกเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆและการเกษตรโดยเฉพาะการทำนาปี ประมาณวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อนทั้ง 4 แห่ง หากไม่มีฝนตกลงมาเลย จะสามารถใช้งานได้อีกประมาณ 40 วันเท่านั้น

 

ดังนั้น กรมชลประทานจะทำหนังสือชี้แจงถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อช่วยรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่ยังไม่ทำนาปี เลื่อนการทำนาปีออกไปอีกจนกว่าสถานการณ์ฝนจะเข้าสู่ภาวะปกติ

นายเลิศวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญค่อนข้างชัดเจนกว่าร้อยละ 90 ส่งผลให้ไม่มีพายุพัดผ่านประเทศไทยเลย หรือถ้าหากเกิดพายุก็จะพัดขึ้นประเทศจีนทั้งหมด ฝนที่ตกในประเทศไทยจะน้อยกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา อาจจะใกล้เคียงกับเมื่อปี 2541 ที่ภัยแล้งเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน

 

ด้าน พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศว่า รัฐบาลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำความเข้าใจกับประชาชนในเขตชลประทานและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้ชะลอการปลูกพืช โดยเฉพาะข้าวออกไปก่อน เนื่องจากระดับน้ำในเขื่อนหลักลดต่ำลงมาก จำเป็นต้องรอรับน้ำฝนให้เพียงพอก่อนปล่อยเข้าสู่ระบบชลประทาน

 

ขณะเดียวกัน นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของภาคเกษตรในปี 2558 ลงมาอยู่ที่ระดับ 1.4% จากประมาณการเดิมที่คาดว่าการขยายตัวได้ 2.5-3% ซึ่งเป็นผลจากอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงภาวะภูมิอากาศ และภาวะเอลนินโญที่ทำให้เกิดภัยแล้ง ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณผลผลิตโดยรวม

ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตข้าวจะลดลงร่วม 20% หริอลดลง 5.4 ล้านตันข้าวเปลือก จากผลผลิตรวม 27-30 ล้านตัน ผลไม้ภาคตะวันออกผลผลิต จะลดลง 60% ส่วนลำไยในภาคเหนือ ลดลง 30% จากปีก่อน ซึ่งหากถึงสิ้นเดือนก.ค.แล้วเกษตรกรยังไม่ได้ทำนา คาดว่าจะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรในระบบจะหายไปประมาณ 1.85 หมื่นบาท/ครัวเรือน หรือเงินหายไป 6 หมื่นล้านบาท


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 มิ.ย. 2558 เวลา : 18:35:38
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 3:46 pm