เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ตลาดรถยนต์" ครึ่งหลังยังซบเซา


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินยอดขายรถยนต์ปีนี้อยู่ที่ 8.6 แสนคัน ลดลง 7 % คาดยอดขายอีโคคาร์ยังลดลงต่อเนื่อง มองอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ช่วยหนุนตลาดอีโคคาร์ปีหน้า ส่วนรถยนต์อเนกประสงค์เป็นกลุ่มมาแรงสุดในปีนี้

 

 

จากสภาพแวดล้อมในตลาดลักษณะที่มีความเสี่ยงสูง แม้จะมีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนอยู่บ้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองว่าโอกาสในการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2558 นี้ น่าจะยังดำเนินไปอย่างยากลำบากอยู่ และได้เพิ่มมุมมองที่ระมัดระวังยิ่งขึ้นต่อทิศทางตลาดในปีนี้ด้วย โดยคาดว่ามีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศอาจอยู่ที่ระหว่างหดตัว 2- 7% หรือคิดเป็นยอดขายรถยนต์ 820,000 - 860,000 คัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภาวะตลาดรถยนต์ในประเทศยังคงซบเซา แม้ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มีการจัดงานมอเตอร์โชว์เป็นประจำทุกปี จะดูเหมือนมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พบ คือ ตลาดไม่ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง โดยบรรยากาศการซื้อขายรถยนต์กลับสะดุดลงหลังจบงานมอเตอร์โชว์แล้ว ทำให้ต้องยอมรับว่า การจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่องยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับสภาพตลาดรถยนต์ในปัจจุบันอยู่

ในปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองที่ระมัดระวังต่อสภาพตลาดรถยนต์ในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะยังมีโอกาสทรงตัวจนถึงหดตัวต่อเนื่องจากปี 2557 ได้ จากปัจจัยลบสำคัญหลายประการที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว และยังคงส่งผลกดดันตลาดในปีนี้ เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสะสม ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวและยางพาราที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กและรถปิกอัพ อันสืบเนื่องจากความไม่มั่นใจในความสามารถชำระหนี้ของผู้ซื้อ หลังจากช่วงที่ผ่านมามีหนี้เสียเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังน่ากังวล อาจทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้อย่างยากลำบากมากขึ้น

ขณะที่ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศก็เป็นไปอย่างล่าช้า จากการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก รวมถึงจะมีรถมือสองใหม่ๆ ที่หลุดไฟแนนซ์เข้ามาแข่งขันในตลาดอีกจำนวนมาก โดยจากการคาดการณ์ของสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว พบว่า ในปีนี้ภาพรวมธุรกิจรถมือสองน่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 10 ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้คาดว่าจะส่งผลกดดันอย่างมากต่อเส้นทางการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งแรก

 

ศูนย์วิจัยระบุต่อว่า ช่วงครึ่งหลังของปี 2558 คาดว่าตลาดจะยังถูกกดดันจากปัจจัยลบต่างๆ ข้างต้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกหลายด้านที่เข้ามาสนับสนุนมากขึ้น น่าจะส่งผลให้มีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์ในช่วงครึ่งหลังอาจจะพลิกกลับมาทรงตัวหรือขยายตัวเป็นบวกได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า หลังจากที่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ตลาดรถยนต์อาจจะต้องเผชิญกับการหดตัวที่มากกว่า 10%

“รถยนต์อีโคคาร์ อาจเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลยอดขายรถยนต์อีโคคาร์ล่าสุดในช่วง 4 เดือนแรกของปี พบว่า มีจำนวนประมาณ 31,600 คัน หดตัวในระดับสูงกว่า 25.9%  และค่าเฉลี่ยยอดขายรายเดือนที่ประมาณ 7,900 คัน ก็เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยยอดขายรถยนต์อีโคคาร์ตลอดทั้งปี 2557 ที่อยู่ที่ประมาณ 9,900 คัน แสดงให้เห็นถึงทิศทางที่ยังชะลอตัวของตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กอย่างชัดเจน”ศูนย์วิจัยระบุ

ศูนย์วิจัยเปิดเผยอีกว่า ประเด็นเรื่องการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ช่วงต้นปีหน้าที่เริ่มมีหลายฝ่ายออกมากล่าวถึงโอกาสที่ราคารถยนต์บางรุ่นจะมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นนั้น ก็ยังไม่เอื้อประโยชน์ต่อตลาดรถยนต์อีโคคาร์ หากพิจารณาโครงสร้างภาษีแล้ว อีโคคาร์ก็เป็นรถยนต์ประเภทเดียวที่นอกจากจะไม่ได้รับผลกระทบแล้ว ยังน่าจะได้ประโยชน์จากการที่อัตราภาษีลดลงอีกด้วย ซึ่งหากค่ายรถไม่กำหนดราคาให้ถูกลง ก็อาจใช้วิธีการเพิ่มฟังก์ชั่นหรืออุปกรณ์เสริมต่างๆ ให้กับลูกค้ามากขึ้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ให้กับลูกค้ามากขึ้น ทำให้หากไม่มีการใช้โปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดต่างๆ ที่ดึงดูดพอมาช่วยกระตุ้น คาดว่ามีโอกาสที่ผู้บริโภคที่จะซื้อรถยนต์อีโคคาร์บางส่วนอาจชะลอการซื้อไปจนถึงช่วงต้นปีหน้า

ส่วนแรงหนุนตลาดรถยนต์อีโคคาร์ในประเทศปีนี้ อาจจะเป็นในส่วนของรถยนต์อีโคคาร์เฟส 2 ตัวใหม่ ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น และวางตลาดไว้ที่ระดับเดียวกับรถยนต์นั่งซับคอมแพ็ค ซึ่งแรงส่งจากการเข้ามาสู่ตลาดใหม่ และการวางระดับราคาจับกลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้อ อาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อสูงในช่วงแรก แต่อาจจะต้องรอติดตามจนผ่านช่วงครึ่งหลังไปแล้ว เพราะความต้องการซื้อดังกล่าวอาจชะลอลงเพื่อรอรับประโยชน์จากอัตราภาษีสรรพสามิตที่ต่ำลงจาก 17 % ในปีนี้ ไปอยู่ที่12 % ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559

 

 

นอกจากนี้ รถยนต์นั่งขนาดกลางในกลุ่ม C-Segment ที่มีขนาดเครื่องยนต์ที่ 1,600 ถึง 2,000 ซีซี ก็เป็นอีกกลุ่มที่อาจมีการหดตัวสูงกว่ารถยนต์นั่งรุ่นอื่นๆ ซึ่งในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ประเภทนี้หดตัวกว่า 29.5 % โดยแม้ผู้ซื้อรถยนต์ประเภทนี้จะเป็นกลุ่มคนมีรายได้ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ น้อยกว่าอีโคคาร์ แต่เนื่องจากรถยนต์ในรุ่นนี้ห่างหายจากการเปิดตัวรุ่นใหม่ที่สามารถดึงดูดตลาดมาระยะหนึ่ง เมื่อเทียบกับรถยนต์รุ่นอื่นๆที่ทยอยกันเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความน่าดึงดูดของตลาดลดลงในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ในรุ่นใกล้เคียงอย่างรถยนต์นั่งอเนกประสงค์รุ่นใหม่ๆ ที่เปิดตัวออกมาและได้รับการตอบรับจากตลาดค่อนข้างดี ทำให้โดนดึงอุปสงค์บางส่วนไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า รถยนต์ในกลุ่ม C-Segment นี้ อาจมีโอกาสฟื้นตัวได้ง่ายกว่ารถยนต์อีโคคาร์ โดยนอกจากกลุ่มผู้ซื้อจะมีรายได้ และสถาบันการเงินกล้าที่จะยอมปล่อยสินเชื่อง่ายกว่าแล้ว ต้องยอมรับว่ารถยนต์ในรุ่นระดับนี้มักจะไม่ใช่รถยนต์คันแรกของบ้าน ทำให้ผู้ซื้อสามารถรอเพื่อหาจังหวะในการซื้อรถแล้วได้โปรโมชั่นส่วนลดที่ดีที่สุดได้ ซึ่งถ้าหากในช่วงนับจากนี้ไปค่ายรถมีการเสนอโปรโมชั่นที่น่าสนใจเพื่อกระตุ้นยอดขายแก่รถยนต์ในกลุ่มนี้ ก็อาจจะสามารถดึงยอดขายให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันได้ง่ายกว่ารถยนต์อีโคคาร์

 

ส่วนรถยนต์นั่งประเภทที่ยังมีโอกาสที่ดีในตลาดสำหรับปี 2558 นี้ อาจจะเป็นในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ ทั้งในกลุ่ม MPV B-SUV และ SUV ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดจริงจังในไทยมากขึ้น โดยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2558 รถยนต์นั่งกลุ่ม MPV สามารถขยายตัวได้สูงถึง 17.5%  ขณะที่รถยนต์นั่งกลุ่ม B-SUV และ SUV สามารถขยายตัวได้ 37.4% และ 2.6 % ตามลำดับ ซึ่งรถรุ่นใหม่ที่เปิดตลาดในปีก่อนต่างยังคงได้รับการตอบรับที่ดี ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการใช้งานที่สามารถทำได้หลากหลายมากขึ้น รูปลักษณ์ที่สวยงาม นอกจากนี้ เฉพาะในกลุ่ม MPV และ B-SUV นั้น มีรถรุ่นที่เปิดตัวใหม่และมีสายการผลิตในไทย ไม่ได้นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย หรือ มาเลเซีย เป็นต้น และยังเป็นยี่ห้อที่ได้รับความนิยมในตลาดอยู่แล้ว ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นตาม จึงทำให้สามารถทำตลาดได้ง่าย

ด้านรถยนต์เพื่อการพาณิชย์นั้น ยังอาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ยังคงล่าช้า เนื่องจากตลาดรถกระบะพึ่งพาตลาดในต่างจังหวัดสูงถึงกว่า 70 % ทำให้กลุ่มรถกระบะยังแสดงถึงทิศทางการหดตัว และจังหวะการฟื้นตัวอาจล่าช้ากว่ารถเพื่อการพาณิชย์ประเภทอื่นๆ ส่วนประเภทของรถยนต์กระบะที่ได้รับปัจจัยบวกชัดเจนที่สุดในกลุ่มรถกระบะด้วยกัน คือ รถกระบะ Space Cab ซึ่งรวมอยู่ในประเภทรถกระบะ 1 ตัน ที่แม้ในช่วง 4 เดือนแรกจะยังหดตัว แต่ในระยะหลังเริ่มมีการทยอยเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกมาเป็นระยะจากหลายค่าย ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นตลาดให้มีความคึกคักมากขึ้น

 
*กรุงศรี กระตุ้นตลาดรถยนต์มือสอง*

 

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) เตรียมจัดงาน  “มหกรรมยานยนต์นำเข้าและรถยนต์มือสอง ครั้งที่ 7 (The 7th Bangkok Imported Car & Used Car Show)”  โดยกรุงศรี ออโต้ ได้เข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อรถยนต์มือสองอย่างเป็นทางการ โดยมีโปรโมชั่นและข้อเสนอสุดพิเศษสำหรับลูกค้าที่สมัครสินเชื่อ “กรุงศรี ยูสด์ คาร์” ในงานนี้โดยเฉพาะ อาทิ ทราบผลอนุมัติเบื้องต้นภายใน 15 นาที เมื่อยื่นเอกสารครบถ้วนตามเงื่อนไขของธนาคารกรุงศรี ดาวน์น้อยเริ่มต้น 10%  ผ่อนสบายนานสูงสุดถึง 84 เดือน และมั่นใจกับโปรแกรมขยายการรับประกันอะไหล่เทียบเท่ารถยนต์ป้ายแดง (EW: Extended Warranty) ตลอดระยะเวลา 1 ปี หรือระยะ 25,000 กิโลเมตร (เฉพาะรถยนต์ที่ร่วมรายการและตามเงื่อนไขธนาคารกรุงศรี) โดยลูกค้าสามารถนำรถยนต์ไปรับบริการที่ศูนย์บริการรถใหม่ของแต่ละแบรนด์ได้ ตามเงื่อนไขของประกัน พร้อมรับของกำนัลพิเศษอีกมากมายสำหรับลูกค้าที่ทำสัญญาภายในงานและเมื่อสัญญาได้รับอนุมัติแล้ว

ผู้สนใจเป็นเจ้าของรถยนต์มือสอง พบกับข้อเสนอพิเศษจากกรุงศรี ออโต้ได้ในงาน “มหกรรมยานยนต์นำเข้าและรถยนต์มือสอง ครั้งที่ 7” ในวันที่ 20-26 กรกฎาคม 2558 ณ อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  www.krungsriauto.com   หรือ  www.facebook.com/krungsriauto


บันทึกโดย : วันที่ : 16 มิ.ย. 2558 เวลา : 20:29:33
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:04 pm