เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ดีเดย์ "กองทุนการออมแห่งชาติ" 20 ส.ค.


การจัดตั้ง "กองทุนการออม" ตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ภายใต้กำกับการดูแลของกระทรวงการคลัง ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมสำหรับสมาชิกที่เป็นแรงงานนอกระบบกว่า 30 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีระบบสวัสดิการรองรับในวัยเกษียณอายุ ซึ่งการดำเนินงานของกองทุนดังกล่าว เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในรัฐบาลชุดนี้

 

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการโครงการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ติดตามให้การดำเนินโครงการกองทุนการออมแห่งชาติ ผ่านธนาคารรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ให้มีความพร้อมมากที่สุด ทั้งระบบการให้บริการ การให้คำปรึกษาของเจ้าหน้าที่ และทดสอบระบบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เพื่อให้มีความสมบูรณ์ และพร้อมให้บริการในวันเปิดโครงการ

 

ในเบื้องต้น ธ.ก.ส. ได้มีการซักซ้อมอบรมเจ้าหน้าที่และทดสอบระบบแล้ว ขณะที่ธนาคารออมสินได้ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่แล้ว และกำลังทดสอบระบบรวมทั้งทำเรื่องชี้แจงไปยังธนาคารสาขา ทั้งนี้คาดว่าวันเปิดโครงการจะเลื่อนจากกำหนดเดิมคือ วันที่ 18 ส.ค. 2558 เป็นวันที่ 20 ส.ค.2558 เพื่อให้มีช่วงเวลาในการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบอย่างทั่วถึงครอบคลุมมากที่สุด

โดยกองทุนการออมแห่งชาติ มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญ และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ อาทิ อาชีพเกษตรกรรม แม่ค้าหาบเร่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสามล้อ หรือแรงงานรายวัน ที่ไม่มีระบบสวัสดิการ ได้สร้างระบบการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณของตนเอง โดยรัฐบาลจะสมทบเงินให้ส่วนหนึ่ง ปีละไม่เกิน 13,200 บาท เมื่อออมจนเกษียณอายุ 60 ปี กองทุนจะจ่ายเงินบำนาญให้ทุกเดือนตลอดชีพ



 

 

สำหรับ คุณสมบัติ-สิทธิประโยชน์ สมาชิก กอช.

1.ผู้สมัครต้องมีอายุ 15-60 ปี ครอบคลุมผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป คนขับรถแท็กซี่ แม่บ้าน สถาปนิก แพทย์ทนายความ ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างชั่วคราว นักการเมือง (ส.ส.) นักการเมืองท้องถิ่น นักเรียน นิสิตนักศึกษา ฯลฯ

2.สมาชิกต้องไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐ หรือภาคเอกชนหรือกองทุนตามกฎหมายอื่น ที่ได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้างอยู่แล้ว

3.ส่งเงินสะสมขั้นต่ำได้ตั้งแต่ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน1.32 หมื่นบาท/ปี โดยเงินที่สะสมนี้จะได้รับดอกเบี้ยด้วย

 

4.รัฐบาลจ่ายสมทบจากภาครัฐ จะเพิ่มตามสัดส่วนอายุ ได้แก่ อายุ 15-30 ปี รัฐสมทบ 50% ของเงินสะสม แต่สูงสุดไม่เกิน 600 บาท/ปี , อายุ 30-50 ปี รัฐสมทบให้ 80% แต่สูงสุดไม่เกิน 960 บาท/ปี , อายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐสมทบ 100% แต่สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาท/ปี

5.ผู้สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีประมาณ 3,500 สาขาทั่วประเทศ โดยใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนอย่างเดียวเท่านั้น

“ผู้ที่ยิ่งออมเร็ว ออมในอัตราสูง ก็จะได้รับเงินบำนาญมากขึ้นตามสัดส่วน อาทิ ออมเดือนละ 1,000 บาท เท่ากัน หากเริ่มออมตั้งแต่ อายุ 20 ปี เมื่อเกษียณจะได้รับเงินบำนาญพร้อมเบี้ยเลี้ยงชีพ รวม 7,000 บาทเศษต่อเดือน แต่หากเริ่มออมอายุ 30 ปี จะได้เงินบำนาญ 4,441 บาทต่อเดือน ขณะที่เริ่มอายุ 40 ปี จะได้ 2,646 บาท เป็นต้น"

สำหรับผู้ที่มีระยะเวลาหรือจำนวนเงินออมน้อย เช่น อายุ 50 ออม เดือนละ 500 บาท เมื่อคำนวนแล้วจะได้เพียง 455 บาท ซึ่งถือว่าต่ำกว่า กอช.จะใช้เงินกองทุนจ่ายสมทบ ให้เป็นเงินดำรงชีพเดือนละ 600 รวมกับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 รวมรับเดือนละ 1,200 บาท จนกว่าเงินในบัญชีจะหมด จากนั้นก็ได้รับเพียงเบี้ยยังชีพ 

 

 

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกกองทุนการออมจะได้รับ 1.อายุครบ 60 ปี มีสิทธิได้รับบำนาญจากกองทุนตลอดชีวิต 2. เสียชีวิตก่อนอายุครบ 60 ปี ให้จ่ายเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์เงินสะสมและเงินสมทบทั้งหมดให้ทายาท 3.ทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี มีสิทธิขอรับเงินสะสม และประโยชน์ของเงินสะสมได้เพียง 1 ครั้ง

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ส.ค. 2558 เวลา : 08:00:50
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 2:19 am