กองทุนรวม
บลจ.กสิกรไทย เปิดขายกองทุน "K-BANKING" เน้นสร้างผลตอบแทนอิงดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคาร เสนอขาย 7-11 ก.ย.นี้


นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย  จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2558 บลจ.กสิกรไทย จะเปิดเสนอขายกองทุนเปิดเค ดัชนีหุ้นธุรกิจธนาคาร (K-BANKING) มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท โดยกองทุนมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีธุรกิจธนาคารโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ และมีกลยุทธ์การบริหารกองทุนในเชิงรับ (Passive Fund) โดยมุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีธุรกิจธนาคารในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งหุ้นในกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วยหุ้นธนาคารพาณิชย์ 11 บริษัท ได้แก่ BAY, BBL, CIMBT, KBANK, KKP, KTB, LHBANK, SCB, TCAP, TISCO, TMB  
           

กองทุน K-BANKING เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงและความผันผวนจากการลงทุนได้ในระดับสูง และมีเวลาติดตามสถานการณ์การลงทุนได้ด้วยตนเอง โดยมีค่าธรรมเนียมการซื้อและการขายคืนหน่วยลงทุนที่ค่อนข้างต่ำ และกองทุนไม่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล ซึ่งผลที่ได้รับจากหุ้นที่ลงทุนจะสะท้อนอยู่ในมูลค่าหน่วยลงทุน โดยผู้ลงทุนสามารถจับจังหวะทำกำไรในระยะสั้นได้ตามการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นกลุ่มธุรกิจธนาคาร รวมถึงโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาวจากการเติบโตอย่างมั่นคงไปพร้อมกับธุรกิจธนาคาร
            

ปัจจุบันหุ้นในดัชนีธุรกิจธนาคารมีมูลค่าตลาดสูงเป็นอันดับ 2  ในดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยมูลค่าตลาดรวม 1.96 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15.14% รองจากหุ้นในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2558) โดยหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่มีการเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกจะชะลอตัวลงอยู่ในระดับ 2.9% อย่างไรก็ตามการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมูลค่า 1.36 แสนล้านบาทของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล ภายใต้การนำของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ในไตรมาสที่ 4
            

อย่างไรก็ตาม นางสาวธิดาศิริกล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกของปี 2558 จะชะลอตัวลง แต่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบยังสามารถขยายตัวได้ประมาณ 1.7% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2557 ขณะที่ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ครึ่งปีแรกอยู่ในระดับทรงตัว โดยมีกำไรเพิ่มขึ้น 0.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนกรณีสัดส่วนตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ของปี 2558 ที่ออกมาเพิ่มสูงขึ้นที่ 2.38% เปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 2.28% คาดว่าจะไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากในภาพรวมถือว่าหนี้เสียยังอยู่ในระดับต่ำ โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีอัตราการกันสำรองสูงถึง 165.1% ของอัตราสำรองตามกฎหมาย จึงมองว่าธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีฐานะการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง
            

นางสาวธิดาศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้หันมาเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการให้บริการ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่ตลอด ทำให้สัดส่วนรายได้ของค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน  
            

นอกจากนี้การเปิดเสรีทางการเงินและการพัฒนาระบบการเงินในอาเซียน (AEC) จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการออกไปลงทุนในต่างประเทศ พร้อมทั้งเกิดการเชื่อมโยงทางการเงิน รวมถึงจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินการ  และเป็นปัจจัยสนับสนุนด้านราคาและผลกำไรของหุ้นกลุ่มธนาคารให้สามารถเติบโตเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา หุ้นในกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวลดลงมา ทำให้ปัจจุบันมีระดับราคาที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในระยะกลางถึงยาว
               

ขณะที่ภาพการลงทุนในระยะสั้นยังมีความผันผวน เนื่องจากผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีความสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามตัวเลขการคาดการณ์ของตลาดจากการรวบรวมของ Bloomberg ได้ประมาณการอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) ของหุ้นในกลุ่มธนาคารปี 2558 นี้อยู่ที่ประมาณ 9.7 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่ประมาณ 11.2 เท่า


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ก.ย. 2558 เวลา : 17:53:04
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 8:21 pm