เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ผู้ประกอบการธุรกิจ "เอสเอ็มอี" ยังน่าห่วง


ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี มีผู้ประกอบการกว่า 2.8 ล้านราย จึงเป็นสาเหตุที่รัฐบาลให้ความสนใจและให้น้ำหนักในการให้ความช่วยเหลือ โดยในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในช่วงที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว แต่มาตรการต่างๆ ยังไม่เห็นผลมากนัก


 

จากการสำรวจของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เกี่ยวกับ”ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ระบุว่า ไตรมาส 3/2558 การสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME 1,262 กิจการทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ที่ 34.2 ปรับลงจากระดับ 38.7 หรือลดลง 11.6% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่า รายได้ของธุรกิจลดลงกว่าช่วงครึ่งปีแรก

ซึ่งภูมิภาคที่ผู้ประกอบการให้ความเห็นว่า รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มลดลงค่อนข้างสูง คือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาภาคเหนือต้องประสบกับภาวะภัยแล้ง สร้างความเสียหายต่อภาคการเกษตร ปัญหาไฟป่าและหมอกควันและอยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้กำลังซื้อในพื้นที่ลดลง ภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมลดการผลิต การจ้างแรงงาน ซ่อมบำรุงและเลื่อนการลงทุนออกไป ทำให้เศรษฐกิจในภาคตะวันออกชะลอตัวลง

ส่วนผลสำรวจเกี่ยวกับปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวล พบว่า เรื่องเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้ออ่อนแอ เป็นอันดับหนึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 63.9% สูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เริ่มสำรวจความเห็น ปัจจัยกังวลเป็นอันดับที่สอง ได้แก่ ปัญหาด้านการบริหารจัดการธุรกิจ-การบริหารเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากยอดขายที่ชะลอตัวลง ทำให้สภาพคล่องของธุรกิจตึงตัว นอกจากนั้น ความกังวลเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ ตามมาเป็นอันดับสามที่ 8.9% เพิ่มขึ้นจาก 4.6%ในไตรมาสก่อนหน้าเกือบเท่าตัว เนื่องจากภัยแล้งกระทบกับภาคการเกษตรที่เป็นกำลังซื้อสำคัญในภูมิภาค

 

ส่วนความเชื่อมั่นของธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 53.1 สูงกว่าระดับปกติที่ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจปลายปีนี้ แม้ปรับลงจากระดับ 53.8 ในไตรมาส 2 เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในอนาคตเริ่มมีสัญญาณที่อ่อนแอลงในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และภาคตะวันออกสวนทางกับภูมิภาคอื่นๆ ที่เริ่มมีแนวโน้มความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ มีมุมมองว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นในไตรมาส 3 สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันอย่างชัดเจน เนื่องจากในปีนี้ผู้ประกอบการSME ต้องเผชิญปัญหากำลังซื้อในประเทศที่ลดลง จากภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การส่งออกชะลอตัวจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังมีปัญหา

อย่างไรก็ตาม จากที่ภาครัฐเร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ มากขึ้น ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 จนถึงช่วงต้นไตรมาส 4 ทำให้ในหลายๆ ภูมิภาคเริ่มเกิดความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าเริ่มดีขึ้น แต่ยังคงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะเห็นผลของมาตรการทั้งหมดนี้อย่างชัดเจน และยังต้องเฝ้าระวังประเด็นความกังวลที่จะยังส่งผลต่อเนื่องไปยังปี 2559 เช่น ปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และส่งออกที่ชะลอตัว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 พ.ย. 2558 เวลา : 11:55:09
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 7:52 pm