การตลาด
สกู๊ป "ค่ายโรงหนัง" เปิดศึก "ชิงพื้นที่เปิดสาขาใหม่" เพิ่มฐานลูกค้า


แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ภาพรวมธุรกิจโรงภาพยนตร์จะดูซึมๆ ไปบ้าง ตามปัจจัยลบทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว แต่ในส่วนของผู้ประกอบการก็ยังคงเดินหน้าขยายสาขาใหม่กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำเลที่ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์เลือกที่จะเข้าไปขยายสาขาด้วย ยังคงเน้นไปที่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เนื่องจากใช้งบลงทุนน้อยกว่าการสร้างพื้นที่โรงภาพยนตร์ด้วยตัวเอง

จากความต้องการดังกล่าว ส่งผลให้ 2 ค่ายโรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ อย่าง "เมเจอร์" และ "เอสเอฟ" ต่างแย่งชิงทำเลภายในห้างค้าปลีก เพื่อขยายโรงภาพยนตร์สาขาใหม่

 

 

โดยในส่วนของ ค่ายเมเจอร์ เน้นการจับมือกับพันธมิตรทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในเครือของเดอะมอลล์และเซ็นทรัล รวมไปถึงห้างค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ และห้างเทสโก้ โลตัส ค่ายเมเจอร์ก็ปักธงยึดหัวหาดจองเกือบหมด

               

 

ขณะที่ ค่ายเอสเอฟ ก็ขอยึดหัวหาดค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล ไม่ว่าจะเป็นตัวศูนย์การค้าเซ็นทรัล หรือห้างสรรพสินค้าโรบินสัน รวมไปถึงศูนย์การค้าในเครือเดอะมอลล์ เป็นทำเลหลักในการขยายสาขาโรงภาพยนตร์ แต่เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้ามีการขยายตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ จึงทำให้ค่ายเอสเอฟ เริ่มหันไปจับมือกับพันธมิตรค้าปลีกในรูปแบบของคอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อขยายสาขาโรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟมากขึ้น

 

นายสุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส เอฟ  คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการคอมมูนิตี้มอลล์ 1 ราย เพื่อเป็นพันธมิตรทางธุรกิจขยายสาขาโรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจศูนย์การค้าในประเทศไทยเริ่มมีการขยายสาขาลดลง จึงทำให้บริษัทต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับการแข่งขัน ซึ่งในส่วนของความร่วมมือดังกล่าว คาดว่าภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ น่าจะได้ข้อสรุป

ปัจจุบัน เอสเอฟ มีโรงภาพยนตร์ในเครือเปิดให้บริการทั้งหมด 45 สาขา โดยสาขาห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ศรีสมานเป็นสาขาล่าสุด  ซึ่งหลังจากเปิดสาขาดังกล่าวก็จะทำการเปิดสาขาต่อไปที่เดอะคริสตัล พาร์ค เป็นสาขาที่ 46  และสาขาห้างสรรพสินค้าโรบินสัน แม่สอด จ.ตาก เป็นสาขาที่ 47

ทั้งนี้ ในส่วนของสาขาที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ของปีนี้ และถือเป็นสาขาต้นแบบของโรงภาพยนตร์รูปแบบใหม่ของเอสเอฟ คือ สาขาเดอะ คริสตัล พาร์ค เนื่องจากสาขาดังกล่าวจะมีรูปแบบของการบริการที่ต่างไปจากสาขาอื่นๆ คือ มีบริการระดับเฟิร์สคลาส อยู่ในพื้นที่เดียวกับบริการแบบทั่วไป โดยจะมีการแบ่งพื้นที่บริการออกเป็น 2 ส่วน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ซึ่งในส่วนของอัตราค่าบริการเฟิร์สคลาส คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 700 บาทต่อที่นั่ง ขณะที่ราคาตั๋วทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 160-180 บาทต่อที่นั่ง

 

 

หลังจากขยายโรงภาพยนตร์สาขาใหม่ในปีนี้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ มีเพียง 1 สาขาที่เปิดไม่ทันปีนี้ ต้องยกยอดไปเปิดให้บริการในปีหน้า คือ สาขาห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ลพบุรี เนื่องจากการก่อสร้างมีความล่าช้า ขณะที่แผนขยายสาขาโรงภาพยนตร์ในปีหน้า เอสเอฟคาดว่าจะเปิดสาขาใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 6-7 สาขา ภายใต้งบลงทุนที่ประมาณ 700-800 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของสาขาที่สามารถเปิดเผยได้แล้วในขณะนี้ คือ ห้างสรรพสินค้าโรบินสันลพบุรี ,ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 นครราชสีมา ,ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครราชสีมา และศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครศรีธรรมราช

หลังจากเดินหน้าขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง เอสเอฟคาดว่าจะมีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10-15% เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีรายได้ประมาณ 3,800 ล้านบาท เนื่องจากช่วงไตรมาส 3 ต่อเนื่องไตรมาส 4  มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูดเข้าฉายและทำเงินหลายเรื่อง เช่น ฟาสต์แอนด์ฟิวเรียส 7 และจูลสิคเวิลด์  เป็นต้น

นายสุวัฒน์ กล่าวว่า รายได้ที่เติบโตดังกล่าว ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ไม่ค่อยดี ขณะที่หนังไทยเองปีนี้ก็ไม่ค่อยดี เพราะหนังส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีหน้าจะดีขึ้น ถ้าผู้ประกอบการไทยหันมาผลิตหนังคุณภาพเข้าฉาย

 

ขณะที่ค่ายเอสฟเอฟมุ่งมั่นผนึกพันธมิตรค้าปลีกทั้งในรูปแบบศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อใช้เป็นทำเลหลักในการขยายสาขา ในส่วนของเจ้าตลาดอย่างเมเจอร์ ก็เดินหน้าจับมืกับพันธมิตรค้าปลีกรายใหญ่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศสยายปีกธุรกิจโรงภาพยนตร์ในเครืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้จำนวนโรงภาพยนตร์บรรลุเป้าหมายตามแผนงานที่วางไว้ว่าปี 2563 จะต้องมีจำนวนโรงภาพยนตร์เปิดให้บริการได้ครบ 1,000 สาขา โดยปัจจุบัน เมเจอร์ ได้เริ่มเข้าไปขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา และ ลาว ซึ่งก็ได้ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ

 

นอกจากจะให้ความสำคัญกับการขยายสาขาโรงภาพยนตร์ใหม่อย่างต่อเนื่องปีละประมาณ 20 สาขาแล้ว เมเจอร์ยังหันมาให้ความสำคัญกับการให้บริการภายในโรงภาพยนตร์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจกรุ๊ปบุ๊คกิ้งมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการจัดงานอีเวนต์เปิดตัวสินค้า จัดงานประชุมและสัมมนาภายในโรงภาพยนตร์มากขึ้น จากเดิมจะเน้นการจองตั๋วชมภาพยนตร์ให้กับลูกค้าแบบหมู่คณะเป็นหลัก

 

หลังจากออกมาเดินหน้าขยายสาขาใหม่ และเพิ่มบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เมแจอร์คาดว่าสิ้นปีจะมีรายได้เติบโตตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ 10% แบ่งเป็น รายได้ที่มาจากผลการดำเนินงานในประเทศไทย 90% และอีก 10% เป็นรายได้ที่มาจากผลการดำเนินงานธุรกิจในต่างประเทศ

แม้ว่าขณะนี้ ค่ายเอสเอฟ จะยังไม่เปิดเกมรุกตลาดเพื่อนบ้าน แต่ก็มีการเข้าไปร่วมเจรจากับพันธมิตรแล้วหลายรายในหลายประเทศ จากแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว เชื่อว่าหลังเปิดเออีซี สมรภูมิการแข่งขันของโรงภาพยนตร์ไทยจะดุเดือดมากกว่านี้

 


บันทึกโดย : วันที่ : 16 พ.ย. 2558 เวลา : 15:31:27
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 5:01 am