เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ธปท."รับเศรษฐกิจไทย-โลก ฟื้นตัวล่าช้า กระทบการชำระหนี้ประชาชน แต่ธุรกิจใหญ่ - สถาบันการเงินยังแกร่ง


ธปท.รับศก.ไทย-โลกฟื้นตัวล่าช้า กระทบการชำระหนี้ประชาชนโดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตร และ SMEs   แต่พบธุรกิจขนาดใหญ่ - สถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง หลังมีการกันสำรองที่อยู่ในระดับสูง ช่วยรองรับความเสี่ยงจากการด้อยลงของคุณภาพสินทรัพย์ รับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด จะทำตลาดการเงินผันผวน  แต่มั่นใจเสถียรภาพภาคต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน หรือ กนส. เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมเห็นว่า เศรษฐกิจโลกและไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชน โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตร และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs
  

อย่างไรก็ตาม ธปท.ประเมินว่า  ฐานะการเงินของภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งจากเงินกองทุนและการกันสำรองที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะช่วยรองรับความเสี่ยงจากการด้อยลงของคุณภาพสินทรัพย์ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะมีส่วนช่วยภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบได้บ้าง และหากโครงการลงทุนขนาดใหญ่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนดจะมีส่วนสนับสนุน การขยายตัวของเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
  

นอกจากนี้ ที่ประชุมประเมินว่า ขณะนี้ยังพบพฤติกรรมของนักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นภายใต้สภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ  แต่ผลกระทบจากพฤติกรรมดังกล่าวต่อเสถียรภาพของระบบการเงินยังคงมีจำกัด นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่า สหกรณ์ออมทรัพย์มีขนาดของสินทรัพย์เติบโตขึ้นและมีแนวโน้มการดำเนินงานที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นการสะสมความเปราะบางในระบบการเงิน จึงควรติดตามการปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ในช่วงต่อไป
  

สำหรับความไม่แน่นอนของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด อาจส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงิน รวมทั้งตลาดอัตราแลกเปลี่ยน แต่เสถียรภาพภาคต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี และสามารถรองรับความผันผวนที่เพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศของภาคธุรกิจส่วนใหญ่เป็นหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศ และมีการใช้เครื่องมือทางการเงินในการป้องกัน ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในเกณฑ์ดี  ที่ประชุมเห็นว่า ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่สูงขึ้น แต่หากในระยะต่อไปเศรษฐกิจ ยังฟื้นตัวช้าและจำกัดเฉพาะบางภาคเศรษฐกิจ อาจทำให้ภาคเอกชนบางกลุ่ม เช่น ครัวเรือนภาคเกษตร และ กลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งมีความเปราะบางอยู่แล้วได้รับผลกระทบมากขึ้น จึงควรให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมและปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ธ.ค. 2558 เวลา : 11:18:31
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 9:27 pm