เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กนง.มีมติเอกฉันท์ "คง" อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ชี้ภาวะตลาดการเงินผันผวนสูง


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.วันนี้ (16 ธ.ค.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 1.50% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังต้องดูแลเสถียรภาพการเงิน และโอกาสที่ตลาดการเงินจะมีความผันผวนสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง และภาวะตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัวตามที่คณะกรรมการประเมินไว้ กนง.ก็พร้อมใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เหมาะสมในการประคับประคองเศรษฐกิจในระยะต่อไป

"คณะกรรมการเห็นว่า นโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนและต่อเนื่อง และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนก็เหมือนการเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็น"นายจาตุรงค์ กล่าว

ทั้งนี้ กนง.คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะทยอยกลับฟื้นตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 59 ตามผลของฐานราคาน้ำมันที่จะหมดไป อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมากในขณะนี้ อาจเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อไม่ขยับขึ้นสํงเร็วมากนัก ขณะเดียวกันยังประเมินว่า ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงยังกระทบกับอุตสาหกรรมที่ไทยส่งออก รวมถึงสินค้าเกษตรบางอย่างตัว เช่น ยาง ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบ ในการฉุดราคาของการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าว ขณะที่ผลกระทบในเชิงบวกจะช่วยกระตุ้นการบริโภค เป็นต้น

นอกจากนี้คณะกรรมการประเมินว่า ความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงืนฝืดมีจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ขยายตัว และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก ซึ่งสะท้อนว่าราคาสินค้ายอกกลุ่มพลังงานส่วนใหญ่มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชน

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 และเดือนตุลาคม ฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่อง การบริโภคที่ขยายตัวจากการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าจำเป็น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ

ขณะที่การส่งออกสินค้ายังคงหดตัวต่อเนื่อง และในระยะต่อไปยังเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย รวมทั้งแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาง ช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 58 ในภาพรวมมีแนวโน้มปรับตัวดีกว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อยที่ 2.7% และประเมินว่าแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี 59 จะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ 3.7%

นายจาตุรงค์ กล่าวถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ในวันที่ 17-18 ธันวาคมนี้ ตนไม่อยากประเมินว่าเป็นไปในทิศทางใด เนื่องจากไม่อยากชี้นำตลาด แต่เชื่อว่าผลกระทบที่จะมีแต่ละประเทศแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งด้านฐานะทางต่างประเทศของแต่ละประเทศ ซึ่งในปัจจุบันไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง มีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่หนี้ภาคเอกชนที่เคยพิจารณา เป็นหนี้ของบริษัทใหญ่ และมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ ฐานะทางด้านประเทศเราจึงค่อยข้างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่น


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ธ.ค. 2558 เวลา : 16:09:29
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 6:24 am