เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐบาลทุ่มเงินสองหมื่นล้าน"ลงทุนบรอดแบนด์"


รัฐบาลเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อยกกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำของคนไทย  โดย พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอ ในการดำเนิน โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ วงเงิน 20,000 ล้านบาท

 

โดยการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 2 เฟส  ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 จะดำเนินการในเฟสที่ 1 ในโครงการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในประเทศ วงเงิน 15,000 ล้านบาท คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 1 ปี  ส่วนเฟสที่ 2 คือ การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ วงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนจะดำเนินการในปีงบประมาณ 2560
         
เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีหมู่บ้านกว่า 70,000 หมู่บ้าน โดยประมาณ 53% เป็นพื้นที่ซึ่งมีสัญญาณโครงข่ายอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว เป็นการลงทุนจากบริษัทเอกชนทั้งหลาย ส่วนอีกประมาณ 40% หรือ 30,000 กว่าหมู่บ้าน ยังไม่มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ภาคอกชนไม่อยากลงทุน เพราะผู้ใช้บริการมีน้อย ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ขณะที่รัฐบาลเห็นว่า พื้นที่ทั้งหมดของประเทศเป็นพื้นที่ ซึ่งมีความจำเป็นที่ประชากรทั้งประเทศจะสามารถเข้าถึงการได้รับบริการอินเทอร์เน็ตได้ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นจะต้องลงทุน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อสร้างโอกาสให้แก่พี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศในการเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากในอนาคต เพราะยังสามารถใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม การเชื่อมโยงด้านการเกษตรระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ตลอดจนการแก้ไขปัญหาทางการเกษตร  

อีกทั้งด้านการสาธารณสุขที่จะสามารถช่วยเหลือคนไข้ในระดับโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งแพทย์อาจจะยังไม่มีความชำนาญเฉพาะทางมากเมื่อเทียบกับแพทย์ในโรงพยาบาลระดับจังหวัด โดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อเชื่อมโยงให้การรักษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ

โดยการลงทุนในโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในประเทศ จะใช้โครงข่ายของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ทีโอที และ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.กสท เป็นหลัก  แต่ไม่ปิดโอกาสและยินดีให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ส่วนการดำเนินงานในเฟสที่ 2  จะเป็นการดำเนินการเพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของโลกดิจิทัล ในปัจจุบันประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ถือว่าเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน โดยประเทศที่เป็นศูนย์กลาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน  รวมทั้งมาเลเซีย และสิงคโปร์  เพราะการเดินสายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ จะอาศัยเส้นทางการเดินเรือเป็นหลัก จากฝั่งตะวันออกเชื่อมไปสู่ตะวันตก ดังนั้นแม้ว่าภูมิศาสตร์ของประเทศไทยจะได้เปรียบโดยอยู่ศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน แต่สายเคเบิลใยแก้วที่วางอยู่ใต้น้ำกลับเอื้อต่อมาเลเซียและสิงคโปร์
ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องช่วงชิงเพื่อเป็นศูนย์กลางดิจิทัลระหว่างฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้อย่างแท้จริง

 

 

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ระยะเวลาในการดำเนินงาน ตั้งเป้าว่าจะสามารถดำเนินการได้ในเดือนมี.ค. ภายในปี 2560 การทำให้อินเทอร์เน็ตสามารถครอบคลุมทุกหมู่บ้านในประเทศไทยก็น่าจะแล้วเสร็จ สำหรับในเฟสที่ 2 จะใช้งบประมาณของปี 2560 ซึ่งก็คาดว่าจะเสร็จในปี 2560 เช่นเดียวกัน โดยหลักการแล้ว งบประมาณที่นำมาดำเนินการมาจากเงินที่ได้รับจากการประมูลคลื่นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งได้ส่งเข้าเป็นเงินคงคลังเมื่อสิ้นปี 2558 ประมาณ 56,000 ล้านบาท


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ม.ค. 2559 เวลา : 03:17:56
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 9:23 pm