เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ธนาคารกลาง" พร้อมใจส่งสัญญาณ "ผ่อนคลายนโยบายการเงิน" กระตุ้นเศรษฐกิจ


เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ได้สร้างความกังวลให้กับประเทศต่างๆ ซึ่งสะท้อนได้จากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ โดยล่าสุดผลการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ประกาศดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ 0.1%   

 

โดย นายกอบศักดิ์  ภูตระกูล  กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนประชารัฐด้านการส่งออก ได้วิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศที่สำคัญได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ยังประสบปัญหาในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

 

ดังนั้น ประเทศเหล่านี้ยังต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติม ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่ธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดเม็ดเงินอีก 1 แสนล้านหยวน เข้าสู่ตลาดการเงิน รวมทั้งBOJ ประกาศดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม และนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ 0.1%  ขณะธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณว่า จะมีการทบทวนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเชื่อว่าภาพรวมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกให้เกิดความคล่องตัว  

 

แต่สัญญาณดังกล่าว อาจมีนัยต่อความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุน อัตราแลกเปลี่ยนเป็นระยะ ซึ่งผลต่อประเทศไทยนั้น เชื่อว่ามีขีดความสามารถรับมือกับความผันผวน แต่ทั้งนี้จะต้องเตรียมพร้อมติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน เงินทุนเคลื่อนย้าย อย่างใกล้ชิด

 

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ เปิดเผยว่า บริษัทมีมุมมองเชิงบวก ภายหลังจากที่ BOJ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงที่ระดับติดลบ 0.1% จาก 0.1% ในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากเป็นการผลักดันทางอ้อมให้ธนาคารพาณิชย์หันไปปล่อยสินเชื่อ และผลักดันให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามด้วยในอนาคต

 

ด้าน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics คาดว่าการประกาศอัตราดอกเบี้ยติดลบ BOJ น่าจะส่งผลบวกต่อไทยในสองด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ และด้านตลาดทุน โดยในส่วนของเศรษฐกิจ มาตรการของ BOJ ดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นเสมือนการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมากขึ้น อีกทั้งนโยบายดังกล่าวก็ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่นอีกด้วยได้ดี ซึ่งภาคการส่งออกของไทยก็จะได้รับผลในเชิงบวกตามมาด้วย

 

ส่วนด้านตลาดทุน หลังจากที่ BOJ ปรับอัตราดอกเบี้ยลง จะเห็นได้ชัดเจนว่า เริ่มมีเงินลงทุนไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก เห็นได้ชัดจากผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีที่ปรับตัวลงไปอยู่ที่ระดับ 0.1%  (-14bps) อย่างรวดเร็ว และผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ก็ปรับตัวลงแรงตามไปที่ระดับ1.92% (-13bps) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ก.พ. 2559 เวลา : 13:48:04
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:53 am