เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กกร.หนุนไทยร่วม "TPP" ห่วงต่างชาติเบรกลงทุน


คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้พิจารณาเรื่องการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP)  

 

 

โดยมีการสอบถามสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ  ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการที่จะเข้าร่วม  กกร.จึงมีมติเห็นด้วยที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ ทีพีพี
        

 

นายสุพันธุ์  มงคลสุธี  ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.มีมติสนับสนุนให้รัฐบาลเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ ทีพีพี โดยสมาชิก กกร.ประมาณ 80-90%  ให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว ส่วนสมาชิกที่เหลืออาจได้รับผลกระทบจะให้แต่ละกลุ่มไปศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไร และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ซึ่งต้องยอมรับว่า  ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติมีความกังวลว่า หากไทยไม่เข้าร่วม TPP ก็ อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายการลงทุนในประเทศไทย

 

ด้าน นายอิสระ  ว่องกุศลกิจ  ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติเห็นด้วยกับการที่ไทยจะเข้าร่วมทีพีพี แต่ประเทศไทยจะต้องพิจารณาผลประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบางกลุ่ม  โดยจากผลการศึกษาของ กกร.พบว่า  หากประเทศไทยเข้าร่วมทีพีพี จะได้รับประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่เข้าร่วมทีพีพีอยู่แล้วไปผลิตสินค้าต่อ ซึ่งผลประโยชน์ที่ไทยจะได้จากผลการศึกษาของ กกร.พบว่าจะช่วยให้จีดีพีของไทยโตเพิ่มขึ้น 1.06%

แต่หากไทยไม่เข้าร่วมทีพีพี ก็มีความกังวลว่า ประเทศจะเสียประโยชน์มากกว่า ส่วนภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมทีพีพี อาจต้องเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาในลักษณะโมเดิร์นฟาร์ม

 

 

ขณะที่ นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบางกลุ่มสามารถช่วยเหลือได้ โดยความเห็นส่วนตัวคิดว่าอาจใช้กองทุนช่วยเหลือผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) 62 ประเทศ เพราะกองทุนนี้ยังใช้ไม่หมด และเป็นกลไกช่วยเหลือเยียวยาที่มีอยู่แล้วจะช่วยเหลือกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบได้

 

ด้าน นายสุวิทย์  เมษินทรีย์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เป็นเรื่องสำคัญทุกอย่างมีทั้งข้อดีข้อเสีย ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ชัดเจนภายใน 1-2 เดือน 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ก.พ. 2559 เวลา : 01:14:20
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:59 pm