เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ศก.โลก-น้ำมันร่วง" ฉุดจีดีพีปี 59 เหลือ 2.8-3.8%


เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยหลักที่ฉุดเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้ลดลง

 

 

โดย นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งขาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของไทยในปี 2559  คาดขยายตัวได้ 2.8-3.8%

โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการเร่งขึ้นของเม็ดเงินการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประกาศเพิ่มเติมในเดือนกันยายน 2558 - มกราคม 2559 แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่ออกในรูปเงินบาทขยายตัว และส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 2558 โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 59 จะอยู่ที่ 32-37 ดอลลาร์ต่อบาเรล ซึ่งต่ำสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นผลดีต่อกำลังซื้อที่แท้จริงของประชาชน ลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ และเอื้ออำนวยให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะเริ่มปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทย 32.5 ล้านคน สร้างรายรับจากการท่องเที่ยวรวม 1.65 ล้านบาท
 

 

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้การคาดการณ์จีดีพีอยู่ที่ 2.8-3.8% นั้น ถือว่าลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3-4%  เนื่องจากข้อจำกัดที่ทำให้การส่งออกสินค้ายังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ จากการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออก ด้านการอ่อนค่าของสกุลเงินสำคัญๆ ในประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเงินหยวนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการไหลออกของเงินทุน การลดลงของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และการเข้าเก็งกำไรค่าเงินหยวนของนักลงทุนในตลาด

ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2559 ยังคงมีภาพลบและบวกปะปนกัน ไม่แตกต่างไปจากทิศทางของเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกมากนัก ซึ่งประเมินในเบื้องต้นว่า แม้จะมีอานิสงส์ต่อเนื่องจากการเร่งผลักดันเม็ดเงินของภาครัฐในหลายๆ ช่องทาง แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2559 อาจชะลอลง เมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 2.8% (YoY) ในไตรมาส 4/2558

 

 

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2559  มีความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ลากยาวข้ามปี  อาจส่งผลทำให้การส่งออกในปี 2559 ไม่ขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี แรงหนุนเพิ่มเติมจากงบกลางปีและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐทยอยประกาศออกมา ตลอดจนการเร่งเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วงครึ่งหลังของปี อาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆ ประคองโมเมนตัมการขยายตัวไว้ได้ต่อเนื่อง

 

ขณะที่ ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ตัวเลขจีดีพีที่สภาพัฒน์คาดการณ์ปีนี้เติบโต 2.8-3.8% ในภาพรวมถือว่าใกล้เคียงกับที่ ธปท.ประเมินไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.พ.59 ที่ผ่านมา ซึ่ง กนง.มองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
  

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามแนวโน้มการใช้จ่ายของภาคเอกชนในระยะต่อไป รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ จากทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย รวมถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลก


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.พ. 2559 เวลา : 19:20:44
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 9:58 pm