เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ไทยติด 1 ใน 5 "ตลาดน่าลงทุน"


แม้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีรัฐบาลทหารเข้ามาดูแลบริหารประเทศ แต่ไทยก็ยังเป็นประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยนายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วนไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย (PwC) เปิดเผยถึงผลสำรวจ Global CEO Survey ครั้งที่ 19 ที่ใช้ในการประชุม World Economic Forum(WEF) ณ นครดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2559

 

 

โดยสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,409 ราย ใน 83 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 61 ราย ใน 7 ประเทศ พบว่า ความเชื่อมั่นของซีอีโออาเซียนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัทในปีนี้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยผู้นำธุรกิจอาเซียนเพียง 39% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลก จะดีขึ้นในปีนี้ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ 49% ถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี นับจากปี 2556 โดย 3 ปัจจัยหลัก ที่ซีอีโออาเซียนมองว่า เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจและนโยบาย ได้แก่ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความไม่มั่นคงทางสังคม และความไม่สงบทางการเมือง

แต่แม้ภาพรวมความเชื่อมั่นปีนี้จะดูแย่ แต่ผู้บริหารในภูมิภาคยังคงมีแผนลงทุนตามปกติ โดย 5 อันดับตลาดน่าลงทุนในปีนี้ อันดับที่ 1ได้แก่ จีนซึ่งแม้ปีนี้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มไม่สดใสนัก แต่จีนถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของอาเซียน อันดับที่ 2 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา โดยดูจากกำลังซื้อและตัวเลขจ้างงานที่ฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมา ส่วน อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ติดอันดับที่ 3 เท่ากัน อย่างไม่น่าแปลกใจ เพราะทั้งมูลค่าการลงทุนและอัตราการขยายตัวของภาคธุรกิจของสองประเทศ ประกอบกับอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำและทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีอยู่มาก ทำให้โอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศยังคงมีสูง ตามด้วย อันดับที่ 4 ได้แก่ อินเดีย ภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี

 

 

สำหรับประเทศไทย ยังติด 1 ใน 5 ตลาดที่น่าลงทุนในสายตาซีอีโออาเซียนในปีนี้ โดยมีจุดแข็งสำคัญด้านแรงงานที่มีทักษะฝีมือเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและการใช้จ่ายของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ผนวกกับไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีข้อได้เปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะการคมนาคม การติดต่อสื่อสาร และการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ดี ไทยก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง เช่น ภาคการผลิตในบางจุดยังมีประสิทธิภาพต่ำ ค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา การกระจุกตัวของพื้นที่อุตสาหกรรมที่อาจทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ภาระหนี้สินของคนในชนบทและผู้มีรายได้น้อย และการอพยพของแรงงาน เป็นต้น

ตลาดที่น่าลงทุนปี 59 1.จีน เพราะเป็นที่สำคัญของอาเซียน 2.สหรัฐฯ เศรษฐกิจฟื้นตัว 3.อินโดนีเซียและเวียดนาม เศรษฐกิจขยายตัวดี 4.อินเดีย เชื่อมั่นรัฐบาลนเรนทรา โมดี 5. ไทย จุดแข็งแรงงานที่มีทักษะฝีมือ นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของภาคเอกชน

โดยซีอีโออาเซียนมองว่า ภารกิจสำคัญ 3 อันดับแรกที่ต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ ได้แก่ 1.การสร้างแรงงานที่มีทักษะ เพียงพอต่อความต้องการของตลาด 2.โครงสร้างพื้นฐานเชิงทางกายภาพและดิจิทัล และ3.แรงงานที่มีความหลากหลาย ส่วนความท้าทายในการประเมินผลสำเร็จของกิจการนั้น ผลสำรวจพบว่า ซีอีโออาเซียนกว่า 80% ต่างเห็นด้วยว่า ความสำเร็จในการทำธุรกิจในศตวรรษที่ 21ไม่ได้วัดกันที่ “ผลกำไร” เพียงอย่างเดียว เนื่องจากผู้บริหารทั่วโลกเริ่มตื่นตัวในเรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุม 3 มิติ ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยคำนึงถึงเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจพร้อมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม


LastUpdate 26/02/2559 12:46:23 โดย :
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 4:20 pm