การตลาด
โออิชิ กรุ๊ป ตั้งเป้ายอดขายปีนี้1.4หมื่นลบ.โต9%


 


 “โออิชิ กรุ๊ป” ผงาด ครองแชมป์ “ผู้นำตลาดชาพร้อมดื่มและตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศ” ตอกย้ำความเป็น “ผู้นำด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนรุ่นใหม่” ยอดขายรวมเพิ่มและกำไรเติบโตสวนทางเศรษฐกิจ เดินหน้าเต็มสูบ ลุยตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
 
 
 
ตั้งเป้าเติบโตต่อเนื่องและยั่งยืน คาดปีนี้บริษัทฯ เติบโตโดยรวมประมาณ 9% หรือ 14,000 ล้านบาท โดยธุรกิจอาหารตั้งเป้ารายได้ 7,000 ล้านบาท หรือเติบโต 7% จากการขยายสาขาและเสริมแกร่งกลยุทธ์ธุรกิจอาหาร ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มตั้งเป้าโกยรายได้ 7,000 ล้านบาท หรือเติบโต 11% จากการทำการตลาดแบบครบวงจรอย่างเข้มข้น

นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ผลประกอบการของโออิชิ กรุ๊ป ประจำปี 2558 มีรายได้จากการขายรวมทั้งสิ้น 12,879 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน โดยมีรายได้จากธุรกิจอาหารจำนวน 6,572 ล้านบาท เติบโตลดลงจากปีที่ผ่านมา 0.5% เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากปัจจัยหลายๆ ด้าน ขณะที่รายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มจำนวน 6,307 ล้านบาท เติบโต 9% ในส่วนกำไรสุทธิรวม บริษัทฯ ได้ผลกำไรสุทธิรวม 712 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปีก่อน ส่วนเป้าหมายของปี 2559 นั้น โดยภาพรวมแล้วบริษัทฯ ตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายอยู่ที่ 9% หรือ 14,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นธุรกิจอาหาร 7,000 ล้านบาท และธุรกิจเครื่องดื่ม 7,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 : 50 เท่ากัน พร้อมตั้งงบประมาณการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1,480 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตเครื่องดื่มแบบบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อไลน์ที่ 4 (Cold Aseptic Filling Line 4) และการขยายสาขาร้านอาหาร”

“ในปี 2559 นี้เรายังคงรุกตามแผนวิสัยทัศน์ 2020 ตามนโยบายของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ ซึ่ง ‘โออิชิ’ ยังคงเป็นหนึ่งในเรือธงสำคัญในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่จะผลักดันเป้าหมายในครั้งนี้ โดยดำเนินตาม  5  กลยุทธ์หลักอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ (1) การเติบโต (Growth) ใช้นวัตกรรมสินค้าเป็นตัวขับเคลื่อน พร้อมขยายกำลังการผลิตไลน์ที่ 4 เพื่อรองรับความต้องการของตลาดชาเขียวที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกสูงมากในภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งมีครัวกลางที่ทันสมัยได้มาตรฐานระดับโลก เพื่อผลิตวัตถุดิบส่งร้านอาหารในเครือและผลิตอาหารพร้อมรับประทานทั้งแช่เย็นและแช่แข็งสำหรับจำหน่ายทั่วประเทศและส่งออก  (2) ความหลากหลาย (Diversity) ตอกย้ำความหลากหลายทุกด้าน ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ ด้านบุคลากร และด้านตลาดทั้งในและต่างประเทศ (3) ตราสินค้า (Brands) ตอกย้ำความแข็งแกร่งของแบรนด์โออิชิด้วยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกิจกรรมการตลาดที่สร้างสรรค์ การันตีจากการได้รับรางวัลแบรนด์ที่แข็งแกร่งมากมาย อาทิ Superbrand 2015 Awards, Thailand’s Most Admired Brand 2015 เป็นต้น จนก้าวเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในเมืองไทยและขยายไปสู่การเป็นแบรนด์ชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน (4) การขายและกระจายสินค้า (Reach) ใช้ศักยภาพที่แข็งแกร่งของเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มไทยเบฟช่วยกระจายสินค้าทั้งในประเทศไทยและในเขตภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า ลาว และกัมพูชา จนปัจจุบันเครื่องดื่มโออิชิขึ้นแท่นเจ้าตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศลาวและกัมพูชา ขณะที่ร้านอาหารชาบูชิ บาย โออิชิ ก็ได้รับการตอบรับที่ดีในตลาดอาเซียน โดยเปิดให้บริการแล้วถึง 3 สาขาในประเทศพม่า (5) ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) จากการมีทีมงานมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศผสมผสานกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน”

“วันนี้โออิชิ กรุ๊ป เติบโตอย่างแข็งแกร่ง เราคงยังมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์, แบรนด์ และช่องทางการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า (Route to market) ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น  กล่าวคือ  ในส่วนธุรกิจอาหาร เราจะเสริมแกร่งแบรนด์ให้ทันสมัยเข้ากับเทรนด์ที่เป็นที่นิยมทั่วโลก (Strengthen Brand) พร้อมยกระดับทุกแบรนด์ในเครือโออิชิให้มีความโดดเด่นและความแตกต่าง สร้างความน่าสนใจแปลกใหม่ให้กับกลุ่มลูกค้า ขณะที่ ธุรกิจเครื่องดื่ม สามารถสร้างผลงานได้ดี ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน (Brand Sustainability) แม้ในสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย หรือแม้แต่ในช่วงที่ไม่มีการทำโปรโมชั่น ยอดขายโออิชิก็ยังคงอยู่ในระดับคงที่และเติบโต ขณะเดียวกันความนิยมของแบรนด์จากการสำรวจล่าสุด โออิชิได้คะแนนในด้านความแข็งแกร่งของแบรนด์ (Brand Health) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  อีกทั้งการสนับสนุนของกลุ่มบริษัทในเครือที่มีศักยภาพแข็งแกร่งทั้งไทยเบฟฯ เสริมสุข และทีมงานทุกฝ่ายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการทำงานเกื้อหนุนกัน จนประสบความสำเร็จทั้งด้านยอดขายและคุณภาพของแบรนด์”


ด้าน นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “สำหรับกลุ่มธุรกิจอาหารในปีที่ผ่านมานั้น บริษัทฯมีรายได้จากการขายรวมทั้งสิ้น 6,572 ล้านบาท สามารถแบ่งออกเป็น (1) รายได้จาก ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร คิดเป็น 94% และ (2) รายได้จาก ธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน คิดเป็น 6% จากรายได้จากการขายรวม และมีกำไรสุทธิ 71 ล้านบาท”

“โดยในปีนี้ (2559) บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้จากการขายรวมที่ระดับ 7,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ราว 7% พร้อมขับเคลื่อนและดำเนินธุรกิจเชิงรุก ผ่านแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างรอบด้าน เริ่มจาก (1) มุ่งวิจัย และปรับปรุงภาพลักษณ์ของตราสินค้า หรือแบรนด์ (Brand) เพื่อสร้าง “คุณค่า” ทั้งด้านสินค้าและบริการ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจสูงสุดแก่ลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย (2) มุ่งพัฒนา และสร้างสรรค์สินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และ นำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ และ (3) นำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ “คุ้มค่าคุ้มราคา” ผ่านกิจกรรมทางการตลาดที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี”


“ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมุ่งขยายตลาดด้วยการลงทุนขยายพื้นที่ให้บริการ และสาขาของร้านอาหารญี่ปุ่นชั้นนำในเครือโออิชิให้ครอบคลุมมากที่สุด ทั้งในทำเลห้างสรรพสินค้า ตลอดจนศูนย์การค้าสมัยใหม่อย่าง บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เทสโก้ โลตัส ทั้งในและต่างประเทศรวม 30 สาขา (จากปัจจุบันที่มี 241 สาขา) โดยมี “ชาบูชิ” (Shabushi By OISHI) “นิกุยะ” (NIKUYA By OISHI) และร้านอาหารญี่ปุ่นบริการด่วน “คาคาชิ” (KAKASHI By OISHI) เป็นเรือธง”


“ด้านธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนา “นวัตกรรม” ไปพร้อม ๆ กับการวิจัยและปรับปรุง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการ อีกด้วย โดยล่าสุดเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งได้แก่ โออิชิ เกี๊ยวซ่า “รวมรส” ที่คัดสรรเกี๊ยวซ่าญี่ปุ่นชิ้นใหญ่ไส้แน่น ทั้ง 1) ไส้หมู 2) ไส้ไก่ 3) ไส้กุ้ง 4) ไส้หมู-สาหร่าย และ 5) ไส้หมู ทาโกะยากิ มารวมไว้ในซองเดียว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของวงการอุตสาหกรรมอาหารไทยเลยก็ว่าได้ โดยวางจำหน่ายแล้ววันนี้ทั้งแบบแช่เย็น (Chilled Food) ขนาดบรรจุ 5 ชิ้น ที่เซเว่นฯ และแบบแช่แข็ง (Frozen Food) ขนาดจุใจ 12 ชิ้น ที่บิ๊กซี เทสโก้โลตัส ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต แม็กซ์แวลู และ โฮม เฟรช มาร์ท เดอะมอลล์ ทุกสาขา”

“ด้วยความต่อเนื่องในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าทั้งด้านสินค้าและบริการนี่เองที่ทำให้กลุ่มธุรกิจอาหาร โออิชิ กรุ๊ป มั่นใจอย่างเหลือเกินว่าจะก้าวสู่การเป็น “Expert of Japanese Food” ภายในปี 2020 ได้อย่างแน่นอน” นายไพศาล กล่าวทิ้งท้าย


ขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่ม นางเจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “สำหรับสายงานธุรกิจเครื่องดื่มในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่สายงานธุรกิจเครื่องดื่มโออิชิยังคงโชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม มีรายได้จากยอดขาย 6,307 ล้านบาท เติบโตขึ้น 9% สวนทางกับตลาดชาพร้อมดื่มที่ชะลอตัวมูลค่าลดลง 2.5%  ขณะที่กำไรสุทธิ 641 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 43% ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดการผลิต การวางแผนการขายและจัดแคมเปญการตลาดที่มีประสิทธิภาพ และการเติบโตในตลาดต่างประเทศอย่างก้าวกระโดดสูงถึง 47% โดย ‘โออิชิ’ ยังคงครองความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม ณ สิ้นปี 2558 ที่ 45% ทิ้งห่างคู่แข่งที่มีส่วนแบ่ง 38% ด้วยความแข็งแกร่งในทุกช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์ ไฮเปอร์ และร้านค้าปลีก”


“สำหรับแผนงานของกลุ่มเครื่องดื่มในปีนี้ ตั้งเป้าการเติบโต 11% ผ่าน 5 ภารกิจหลักขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ ได้แก่ (1) รุกตลาดอย่างต่อเนื่องตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดชาเขียว โดยจัดโปรโมชั่นที่โดนใจผู้บริโภค และแคมเปญการตลาดแบบครบวงจรอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นรูปแบบการคัดสรรความต้องการเฉพาะกลุ่มมากขึ้น (Tailor-Made) เพื่อให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและเพิ่มยอดขาย อาทิ แคมเปญใหญ่ล่าสุดรับซัมเมอร์ปีนี้ ‘รหัสโออิชิ กองทัพแมวเนโกะทองคำ’ ที่บริษัทฯ ทุ่มงบประมาณถึง 200 ล้านบาท จัดเป็นแคมเปญไฮไลต์ประจำปีเพื่อผลักดันยอดขายให้เติบโตขึ้น 15% จากในช่วงปกติ

 (2) ขยายกลุ่มเป้าหมาย (Target Group) โดยใช้นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เป็นตัวขับเคลื่อน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพ รวมทั้งรสชาติใหม่ๆ  โดยเฉพาะชารสผลไม้ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดสูงถึง 18-20% โออิชิจึงเริ่มทำตลาดชารสไม้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาดและผลักดันให้ตลาดมีการเติบโตที่ดี โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่คือชาเขียว ‘โออิชิ องุ่นเคียวโฮ’ ที่ผสมวุ้นเนื้อนุ่มเหนียวเพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่และเพิ่มการบริโภคมากขึ้นโดยจะเน้นกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งมีพฤติกรรมชอบบริโภคสินค้าที่มีความแปลกใหม่และสนุก 

(3) เพิ่มการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยใช้งบประมาณถึง 25% ของงบฯ การตลาดรวม จากเดิมที่ใช้เพียง 15% ในปีก่อน เพื่อสร้างคอนเนคชั่นกับลูกค้าวัยรุ่นด้วยกิจกรรมออนไลน์ ที่จะช่วยปูพรมไปสู่การสร้างแบรนด์จากช่องทางนี้อย่างจิงจังในอนาคต (4) ปรับกลุ่มสินค้า (Portfolio) ให้มีความชัดเจนขึ้น ได้แก่ กลุ่มชาเขียวมี 3 รสชาติ คือ   รสต้นตำรับ รสข้าวญี่ปุ่น และรสเลมอน ขณะที่ชาผลไม้มี 2 รสชาติ คือ รสลิ้นจี่และรสองุ่นเคียวโฮ ส่วนแบรนด์ในตระกูลฟรุตโตะ มี 3 รสชาติ คือ รสสตรอเบอรรี่เมลอน รสเลมอนเบอร์รี่ และรสแอปเปิ้ลเขียวองุ่นขาว (5) สร้างความเติบโตให้ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ พม่า มาเลเชีย สิงคโปร์ พร้อมทั้งมีแผนจับมือกับ Local Distributor ขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศลาวและกัมพูชามากขึ้น โดยเน้นขนาดขวดบรรจุภัณฑ์ 500 มล. เป็นขนาดหลักในการลุยตลาด โดยอิงจากข้อมูลรีเสิร์ชพฤติกรรมผู้บริโภคท้องถิ่น”
 

LastUpdate 07/03/2559 15:17:29 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:07 am