การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สธ. แนะกุญแจเตือนใจ 5 ดอกกลับบ้านปลอดภัยช่วงสงกรานต์


 


กระทรวงสาธารณสุข ให้กำลังใจประชาชนกลับบ้านปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ด้วยกุญแจเตือนใจ 5 ดอก เตรียมพร้อมดูแลผู้บาดเจ็บจากการจราจร ตั้งแต่จุดเกิดเหตุ โรงพยาบาล และระบบส่งต่อ เข้มข้นการตรวจเตือน บังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร่วมตั้งด่านชุมชน ป้องกันผู้ขับขี่เมาสุราออกจากหมู่บ้าน

บ่ายวันนี้ (7 เมษายน 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล     สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข     พันตำรวจเอก เกรียงเดช จันทรวงศ์ รองผู้บังคับการกองแผนงานกิจการพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายนนท์จิตร เนตรพุกกณะ ผู้อำนวยการกองกิจการชุมชนและบริการสังคม กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกันแถลงข่าว การเตรียมการรองรับเทศกาลสงกรานต์ 2559 ของกระทรวงสาธารณสุข
 
 
 

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า  ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ กระทรวงสาธารณสุขขอให้กำลังใจประชาชนไทยทุกคน กลับบ้านอย่างปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ และใช้กุญแจสำคัญ 5 ดอกเตือนใจในการเดินทางคือ “ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ไม่ขับเร็ว คาดเข็มขัดนิรภัย และสวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขับขี่” และกุญแจสำรองอีก 1 ดอกไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินคือสายด่วน 1669 บันทึกไว้ในใจ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น EMS 1669 ติดมือถือไว้ตลอด พร้อมทั้งขอเป็นกำลังใจ และขอบคุณบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขทุกท่าน ที่ทุ่มเท เสียสละเวลาในช่วงวันหยุดยาว เพื่อให้การดูแลประชาชนอย่างเต็มกำลัง

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวต่อว่า ข้อมูลการบาดเจ็บจากการจราจรของประเทศไทย ในปี 2558 มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 40 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 25 มาจากการ “ดื่มแล้วขับ” และทุกวันจะมี 15 ครอบครัวต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูผู้พิการจากการจราจร โดย 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตหรือพิการเป็นกำลังหลักของครอบครัว ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศปีละกว่า 3 แสนล้านบาท โดยเฉพาะช่วงวันเทศกาลสำคัญ เช่นปีใหม่และสงกรานต์ ประชาชนมีการเดินทางใช้รถใช้ถนนกันมาก มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บจากการจราจรเพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยเทศกาลสงกรานต์รอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บมากถึงชั่วโมงละ 160 คน กว่า 1 ใน 4 เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และสูงที่สุดในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี พาหนะที่เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ สาเหตุสำคัญส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่  ขับรถเร็ว ดื่มสุราก่อนขับขี่ ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร  

กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้การป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจรเป็นวาระสำคัญที่ต้องดำเนินการตลอดทั้งปี เน้นมาตรการป้องกัน ได้แก่ การจัดการแก้ไขจุดเสี่ยงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รอบ 5 เดือนที่ผ่านมา ได้ชี้เป้าจุดเสี่ยงทั่วประเทศ 767 จุด ในจำนวนนี้แก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว 512 จุด คิดเป็นร้อยละ 67 และสนับสนุนการตั้งด่านชุมชน/จุดสกัด ขณะนี้มี 578 ด่าน จากข้อมูลช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา พบว่าอุบัติเหตุร้อยละ 48 เกิดในถนนชุมชน/อบต.และทางหลวงชนบท เป็นรถจักรยานยนต์มากที่สุด สาเหตุจากการดื่มแล้วขับสูงถึงร้อยละ 40 ผลการดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 40 อำเภอ 262 ด่าน พบว่าการตั้งด่านชุมชนในหมู่บ้าน โดยผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน ชาวบ้าน อาสาสมัคร เพื่อสกัดกั้น/ตักเตือนกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่นดื่มสุราแล้วขับรถ ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกกันน็อค ไม่ให้ออกไปสู่ถนนใหญ่ ช่วยลดจำนวนผู้บาดเจ็บและการเสียชีวิตลงได้มากกว่าพื้นที่ที่ไม่มีด่านชุมชน                                                                                                              

ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง ใน 2 ด้าน คือ 1.ด้านการรักษา ให้โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมทั้งทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ไอซียู สำรองเลือด ออกซิเจน ระบบส่งต่อ และหน่วยบริการแพทย์ฉุกเฉินทั้งภาครัฐและเอกชนทุกระดับ ซึ่งมี  ทั้งสิ้น 14,576 ทีม แบ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (Advanced Life Support : ALS) 2,617 ทีม ระดับพื้นฐาน (Basic Life Support : BLS)  2,008 ทีม  และหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (First Responder : FR) 9,871 ทีม และทีมอื่นๆ อีก 80 ทีม มีเจ้าหน้าที่ทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศรวม 164,939 คน พร้อมให้การช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ ภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้งเหตุ และให้โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่บนเส้นทางหลวงที่มีประมาณ 200 แห่ง จัดหน่วยกู้ชีพประจำจุดที่มีความเสี่ยง ทำงานร่วมกับมูลนิธิต่างๆในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติประสานจัดระบบการส่งต่อทั้งทางเรือและอากาศยาน เพื่อลดการเสียชีวิตและเกิดความพิการให้เหลือน้อยที่สุด ประชาชนสามารถโทรแจ้งเหตุได้ที่หมายเลข 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
 

2.ด้านการป้องกัน ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ จัดเจ้าหน้าที่และอสม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้บริการที่จุดตรวจ/จุดบริการประชาชนในพื้นที่ สนับสนุน อสม.ตั้งด่านควบคุมพฤติกรรมเสี่ยง เช่นด่านชุมชนหรือศูนย์สร่างเมาเป็นต้น และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดทีมร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551
 
ซึ่งที่ผ่านมายังพบการขายในสถานที่และเวลาห้ามขาย และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง ขณะขับขี่หรือขณะโดยสาร และขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ร้านค้า ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดทีมเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน/ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วย 

 
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องดูแลผู้กระทำผิดกฎหมาย หากพบเห็นการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามขายเช่น ปั๊มน้ำมัน สถานบริการสาธารณสุข ร้านขายยา สถานที่ราชการ  สถานศึกษา สถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สวนสาธารณะของทางราชการ การขายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี  ขายในเวลาห้ามขาย การเร่ขาย และการโฆษณาส่งเสริมการขาย โทรศัพท์แจ้งได้ที่ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค  หมายเลข 0 2590 3342
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 เม.ย. 2559 เวลา : 14:23:42
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 5:27 pm