เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เตือนไทยอาจติดกับดักสภาพคล่อง




 


การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดแล้ว   ยังสะท้อนให้เห็นว่าการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินเริ่มมีปัญหาชะลอตัวลงมาก  จากเครื่องชี้เศรษฐกิจการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง  จนต้องมีการปรับลดการเติบโตลงอย่างต่อเนื่อง   แต่เม้สถาบันการเงินจะลดอัตราดอกเบี้ย  ก็ไม่ได้ทำให้การปล่อยสินเชื่อขยายตัวได้มากนัก   โดยจะเห็นได้จากสภาพคล่องในระบบที่ยังมีอยู่มาก 

 
 
ซึ่งนายวีรพงษ์  รามางกูร  อดีตรองนายกรัฐมนตรี  ได้แสดงความเห็นว่า  ช่วง 10 ปีต่อจากนี้ รัฐบาลไทยไม่น่าจะมีปัญหา เรื่องของสภาพคล่องในการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เพราะตลอด 12 ปีหลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง   ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลมาโดยตลอด
 
 
        
 การที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลมาต่อเนื่อง 12 ปี สะท้อนให้เห็นว่าในประเทศมีการออมมากกว่าการลงทุน ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยมีเงินสำรองอยู่ราว 1.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเพียงพอต่อการที่รัฐจะลงทุนไปได้ถึงระดับ 6 ล้านล้านบาท 
         
อย่างไรก็ตามปัญหาที่สำคัญของไทยในขณะนี้คือ เรื่องของกับดักสภาพคล่อง เนื่องจาก การที่คนเอาเงินไปฝากธนาคารพาณิชย์ แต่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถนำเงินเหล่านั้นไปปล่อยกู้ได้เพราะภาคเอกชนชะลอการลงทุน   จึงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ควรจะเร่งออกการลงทุนมาชดเชย ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่ารัฐบาลควรจะเร่งการลงทุนมากกว่านี้ รวมถึงออกโครงการลงทุนมามากกว่านี้

ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย   ก็มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า สภาพคล่องในประเทศมีมาก จนเศรษฐกิจเกิดภาวะ ‘ออมมากเกินไป’ (over-saving)  ‘ลงทุนน้อยไป’ (under-investment ) หากจะลดดอกเบี้ยลงต่อก็อาจจะช่วยได้ไม่มาก  คนยิ่งออมเงินเพราะความไม่แน่นอนสูง ออมเพื่อเก็บไว้ใช้อนาคต และอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรม   search for yield หรือการวิ่งเข้าหาผลตอบแทนสูงมากเกินไป  ซึ่งนำไปสู่ภาวะฟองสบู่
 
 
 
                  
ดังนั้นรัฐบาลจะต้องสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง เช่น สร้างความชัดเจนด้านทางการเมืองในอนาคตหลังมีประชามติ รัฐธรรมนูญ และเลือกตั้ง    อีกทั้งต้องเร่งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และความต่อเนื่องของนโยบาย 

นอกจากนี้รัฐบาลควรปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อดึงดูด FDI ที่ไทยสามารถได้ประโยชน์ในการพัฒนา SME เข้าเป็นห่วงโซ่อุปทาน และเร่ง PPP ที่รัฐต้องแสดงบทบาทนำ แม้แต่จะปรับบทบาทรัฐวิสาหกิจให้ก้าวหน้าขึ้น จุดที่เป็นข้อดีคือ หนี้ภาครัฐนับว่ายังต่ำ สามารถใช้นโยบายการคลังนำนโยบายการเงิน กระตุ้นการลงทุนได้ โดยรัฐปรับบทบาทเชิงรุกนำเอกชนในสภาวะที่เอกชนยังไม่ลงมือทำ และวางแนวทางสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ไม่เป็นภาระคนรุ่นหลัง



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 เม.ย. 2559 เวลา : 15:37:12
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:49 pm