เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐเร่งรับมือแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย




 


ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย  ได้ถูกกล่าวถึงอีกครั้ง   หลังจากที่มีสัญญาณว่า อียูอาจให้ใบแดงกับไทย    จากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู)  หลังจากที่อียูให้ใบเหลืองกับไทย  เพื่อให้แก้ปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่  21  เม.ย.  2558   หรือกว่า 1 ปีที่ผ่านมา

 

ซึ่งต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหาไอยูยูของไทย  ในช่วงที่ผ่านมามีความล่าช้า  จนทำให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ได้ออกคำสั่งในราชกิจจานุเบกษา อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ให้นายวิมล  จันทรโรทัย   อธิบดีกรมประมง ขาดจากตำแหน่งหน้าที่ และอัตราเงินเดือน    เพื่อย้ายหรือโอนไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี   และมอบหมายให้ นายอดิศร พร้อมเทพ   พ้นจากตำแหน่ง  รองอธิบดีกรมประมง  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมประมง  แทน โดยคำสั่งใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ลงวันที่ 20 เมษายน 2559
 
 
 

 
ขณะที่พล.อ.ฉัตรชัย   สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์  ชี้แจงว่า  เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระทรวงเกษตรฯ เข้าเป็นภาคีสมาชิกความตกลงว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของท่า เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ  ซึ่งการเข้าเป็นสมาชิกครั้งนี้    จะทำให้การปฏิบัติทางทะเลของไทยเป็นไปตามหลักสากล และตามแผนงานของรัฐบาล

ส่วนนายอดิศร   อธิบดีกรมประมงคนล่าสุด    เผยว่า การแก้ปัญหาไอยูยูที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการแก้ไขตามข้อสังเกตของอียูมาต่อเนื่อง  รัฐบาลไทยแสดงความจริงจังในการแก้ไขปัญหาจนสามารถออกเป็นพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และเร่งรัดออกกฎหมายรองอีกทั้งหมด 92 ฉบับ ซึ่งมีประมาณ 53 ฉบับ  เกี่ยวกับไอยูยูที่ออกไปแล้ว ส่วนที่เหลืออาจต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อยเพราะคาบเกี่ยวกับกฎหมายเก่า
 

 
 
 
 
สำหรับประเด็นในเรื่องการติดตามเรือผ่านระบบดาวเทียมหรือ วีเอ็มเอส ไทยสามารถติดตั้งและพัฒนาได้เร็วมากเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ แต่ยังมีเรือ 30 ตันกรอสขึ้นไปอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ติด  เพราะเรื่องทุนและความพร้อม เรือเหล่านั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกทำประมงจากศูนย์ควบคุมแจ้งการเข้าออกของเรือ เพราะเอกสารและเครื่องมือไม่พร้อมตามที่กรมประมงกำหนด
 

นอกจากนี้กรมประมงยังได้ ริเริ่มโครงการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ เริ่มตั้งแต่ในส่วนของต้นน้ำ  ด้วยการให้ความรู้กับประชาชนในแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับการประมง รวมถึงเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรม หลักสูตร "ส่งเสริมความรู้แนวทางการใช้แรงงานที่ดีและต่อต้านการค้ามนุษย์ให้กับผู้ประกอบการเรือประมง"
         
 
 
สำหรับมุมมองของภาคเอกชนนายบัณฑูร  ล่ำซำ   ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ยอมรับว่า เป็นห่วง  ถ้าหากภาคอุตสาหกรรมประมง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ถูกตัดสิทธิ ไอยูยู หรือได้ใบแดง  จะยิ่ง ส่งผลให้ภาคส่งออกไทยแย่ลงไปอีก  และจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย   เนื่องจากอุตสาหกรรมการประมงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีผู้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก  และยังเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอื่นๆในระบบเศรษฐกิจ



 

LastUpdate 26/04/2559 09:22:58 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:51 pm