เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสิกรไทยชี้ Modern Cold Chain ของอินเดียกำลังมา ...


 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์ 'Modern Cold Chain ของอินเดียกำลังมา ... เติมช่องว่างระหว่างธุรกิจต้นน้ำสู่ปลายน้ำ'

 

การเปิดเสรีธุรกิจ Cold Chain ในอินเดียตั้งแต่ปี 2554 ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตจากที่มีมูลค่าราว 3 พันล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นสามเท่าตัวจนมีมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2558 มีผู้เล่นในตลาดไม่ต่ำกว่า 3,500 ราย แบ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ราว 30 ราย ในจำนวนนี้มีไม่ถึง 10 ราย ที่ให้บริการ Cold Chain ครบวงจร
 
 
นอกนั้นเป็นธุรกิจรายย่อยของเกษตรกรที่มีคลังสินค้าความเย็นของตนเอง โดยมีไม่กี่รายที่มีรถขนส่งสินค้าด้วยความเย็น จึงมีผลผลิตผักและผลไม้เพียงร้อยละ 3.8 เท่านั้นที่ใช้ระบบขนส่งด้วยห้องเย็น  นับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 85-90 ประเด็นดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาราคาสินค้าอาหารในประเทศที่เร่งตัวสูงยามเกิดสภาพอากาศแปรปรวน สาเหตุหลักของปัญหาเงินเฟ้อที่หยั่งรากลึกในประเทศมายาวนาน โดยแตะระดับสูงใกล้เคียงร้อยละ 10 มาตั้งแต่ปี 2552 แม้ว่าปัจจุบันจะปรับลดลงแต่ก็เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง
 

สภาพแวดล้อมดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจ Cold Chain ในอินเดียยังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อีกมากจึงจะเพียงพอกับความต้องการในปัจจุบันและเตรียมรับกับดีมานด์ระลอกใหม่ที่เกิดจากนโยบายกระตุ้นการผลิตภาคเกษตรกรรมตามแผนงบประมาณประจำปี 2559-2560 ซึ่งรัฐบาลทุ่มงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 77 พร้อมทั้งนโยบาย Make in India ที่ได้เดินหน้ายกระดับการผลิตอาหารให้มีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าธุรกิจ Cold Chain ในอินเดียจะคึกคักมากขึ้นอีกเท่าตัวแตะมูลค่า 18 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561 จากที่มีมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2558 ซึ่งตลาดจะผลักดันให้เกิดความต้องการธุรกิจห่วงโซ่ความเย็นสมัยใหม่ (Modern Cold Chain) ที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิต
 
แรงขับเคลื่อนจากภาคการผลิตผลักดันธุรกิจ Modern Cold Chain เร่งตัวแรงต่อเนื่อง
 
ภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมงและการแปรรูปอาหารของอินเดียมีสัดส่วนถึงร้อยละ 18.4 ของเศรษฐกิจ โดยอินเดียส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 6 ของโลก สามารถผลิตผักและผลไม้ได้เป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากจีน)  มีกำลังการผลิตแต่ละปีราว 164 ล้านตัน และ 91 ล้านตัน ตามลำดับ ความพร้อมดังกล่าวดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน ประกอบกับนโยบายปฏิรูปภาคเกษตรกรรมและ Make in India ที่มุ่งเน้นปฏิรูปภาคการผลิตเชิงลึก ตลอดจนการจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ (Mega Food Parks) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการผลิตอาหารอย่างจริงจัง โน้มนำผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกเข้ามาจับตลาด ปัจจัยต่างๆ ล้วนกระตุ้นให้เกิดความต้องการ Modern Cold Chain อันจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเชื่อมโยงภาคเกษตรกรรมสู่การผลิตอาหารและการบริโภคในระยะข้างหน้า
 

Modern Cold Chain เป็นรูปแบบที่ต่างจากธุรกิจที่มีในอินเดีย โดยต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อย ตั้งแต่การใช้วัสดุก่อสร้างคลังสินค้าที่ได้มาตรฐาน ISO หรือใช้วัสดุที่เหมาะแก่อุตสาหกรรมอาหาร (Food Grade) ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย GMP และ HACCP การป้องกันการเกิดเชื้อราและแบคทีเรีย การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยใช้วัสดุที่ปราศจากสาร CFC การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานด้วยการใช้วัสดุกันความร้อน การใช้อุปกรณ์ที่ป้องกันการรั่วไหลของความเย็น การเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟ LED และการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ รวมทั้งการเชื่อมต่อธุรกิจเข้ากับโลกดิจิทัลโดยการติดตั้งชิพ RFID เพื่อให้ตรวจสอบสินค้าในคลังได้อย่างรวดเร็ว 
 

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยความต้องการของตลาดที่มีอยู่ จึงอาจเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ โดยมีกลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจ Modern Cold Chain ในอินเดีย ซึ่งน่าจะสามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ดังนี้
 

1. การเข้าควบรวมกิจการ/ซื้อกิจการ (M&A) ที่มีอยู่แล้วในอินเดียถือเป็นวิธีที่สะดวก และได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยผู้ประกอบการสามารถเข้าไปสานต่องานของกิจการเดิมได้อย่างรวดเร็ว การลงทุนในรูปแบบนี้จึงเหมาะกับธุรกิจที่เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาคลังสินค้าแช่เย็นที่มีเป็นจำนวนมากถึง 7,129 ยูนิต มีความจุรวม 32.8 ล้านตัน ซึ่งกว่าร้อยละ 75.4 ใช้แช่มันฝรั่งเท่านั้น ยังขาดเทคนิคและเทคโนโลยีในการบริหารจัดการในธุรกิจนี้ค่อนข้างมาก 

 
การลงทุนในธุรกิจคลังสินค้าแช่เย็น (Cold Storage) นักลงทุนสามารถเลือกพื้นที่ลงทุนที่สอดคล้องกับตลาดเป้าหมาย แล้วเข้าไปพัฒนาต่อยอดจากเดิมให้ตอบโจทย์ดีมานด์ของผลผลิตสินค้าเกษตรในรูปแบบอื่นนอกจากมันฝรั่ง โดยจัดสรรให้จัดเก็บสินค้าได้หลากหลายวัตถุประสงค์ (Multi Purpose) หรือทำให้เป็นธุรกิจคลังสินค้าแช่เย็นสาธารณะ (Cold Public Warehouse) ที่ให้บริการเช่าพื้นที่ฝากสินค้าเกษตรจากผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งผู้ประกอบการในอินเดียยังขาดความชำนาญในการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรประเภทอื่น 

 
ดังนั้นการเข้าไปบริหารจัดการให้มีต้นทุนที่ต่ำลง และปรับปรุงเทคโนโลยีความเย็นให้ทันสมัยจะยิ่งหนุนให้สามารถขยายตลาดในประเทศได้มากขึ้น โดยควรพิจารณาร่วมทุน/ซื้อกิจการเพื่อสร้างเครือข่ายคลังสินค้าในแต่ละพื้นที่อันจะช่วยให้การกระจายสินค้ามีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องเลือกพื้นที่ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของธุรกิจ อาทิ การจับตลาดผู้บริโภคในเมืองและห้างค้าปลีกที่ขณะนี้กำลังธุรกิจค้าปลีกแบรนด์ต่างชาติทั้งสหรัฐฯ ยุโรปและอาหรับกำลังขยายสาขาในเมืองรอง บริเวณรัฐปัญจาบ หรยาณา มัธยประเทศ และรัฐคุชราต การมุ่งเน้นตลาดส่งออกและขยายตลาดใหม่ในประเทศบริเวณภาคใต้ ภาคตะวันตกและภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่รัฐมหาราษฏระ รัฐทมิฬนาฑู หรือการจับตลาดสินค้าเกษตร ในพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศ ที่รัฐมัธยประเทศ 
 
 
 
 
 
2. การจัดตั้งธุรกิจใหม่ เพื่อเติมเต็มความต้องการที่มีในขณะนี้ ค่อนข้างท้าทายและมีความเสี่ยงจากความไม่ชำนาญในพื้นที่ แต่ก็มีข้อดีตรงที่ธุรกิจเหล่านี้ยังมีการแข่งขันไม่สูงนัก โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ (Mega Food Parks) ที่เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตอาหารสมัยใหม่ มีความพร้อมให้การอุดหนุนด้านเงินทุน มีมาตรการให้กู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ พร้อมทั้งผ่อนผันระยะเวลาชำระเงินกู้ ซึ่งขณะนี้ทางการอินเดียอนุมัติจัดตั้งแล้ว 17 แห่ง ในรัฐหรยาณา รัฐปัญจาบ รัฐคุชราต รัฐพิหาร รัฐเทลันกานา รัฐโอริสา รัฐทมิฬนาฑู รัฐมหาราษฏระ รัฐเกรละ และยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่รอการอนุมัติอยู่อีก 25 แห่ง ซึ่งธุรกิจที่อินเดียยังขาดแคลน ได้แก่

 
ธุรกิจรถขนส่งควบคุมอุณหภูมิ (Reefer Vehicles) ยังต้องการอีกเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ มีโอกาสค่อนข้างดีเพราะมีผู้เล่นน้อยรายและในจำนวนดังกล่าวก็ทำได้เพียงการขนส่งระยะทางสั้นๆ การรับจ้างขนส่งก็ยังไม่แพร่หลาย อีกทั้งการขนส่งทางบกด้วยรถไฟก็ยังไม่มีบริการการขนส่งควบคุมอุณหภูมิ ดังนั้น การขนส่งด้วยรถควบคุมอุณหภูมิจึงเป็นช่องทางเดียวในการนำผลผลิตออกจากแหล่งผลิตไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งการประเมินของทางการอินเดียคาดว่าธุรกิจนี้น่าจะเติบโตได้อีก 6 เท่าตัว มาอยู่ที่ 52,800 ยูนิต จากที่มีจำนวนรถขนส่งราว 9,000 ยูนิต และธุรกิจที่มีอยู่ก็ยังต้องพัฒนาอีกมากเพื่อให้รถมีประสิทธิภาพในการทำความเย็นและประหยัดพลังงาน รวมทั้งควรนำเทคโนโลยีขนส่งเทเลเมติกส์ (Telemetric) เข้ามาสร้างจุดเด่นในการติดตามสินค้าตลอดเส้นทางขนส่ง 
 

 ธุรกิจห้องจัดเตรียมผลผลิต (Pack-House) มีโอกาสเติบโตสูง เป็นธุรกิจที่อยู่บริเวณแหล่งผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งธุรกิจนี้เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ผลผลิตภาคเกษตรกรรมไปสู่ปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการเน่าเสียระหว่างการขนส่งสินค้าได้ แต่เกษตรกรอินเดียไม่ได้ให้ความสำคัญกับขั้นตอนการล้างผลผลิต คัดขนาด ตัดแต่ง และบรรจุ โดยทางการอินเดียคาดว่าด้วยปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในปัจจุบันยังต้องเพิ่มจำนวนห้องจัดเตรียมผลผลิตอีกไม่น้อยกว่า 70,000 ยูนิต จากมีอยู่เพียง 249 ยูนิต เท่านั้น
 
 
 ธุรกิจห้องควบคุมสภาพแวดล้อม (Ripening Chamber) เป็นธุรกิจที่อยู่ปลายทางของสินค้าเกษตรก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดค้าปลีก-ค้าส่ง อีกทั้งยังตอบโจทย์ตลาดเพื่อการส่งออกได้ เหมาะที่จะลงทุนในทุกพื้นที่ ซึ่งธุรกิจนี้ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นและปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเพื่อให้สินค้าคงความสดและรับประทานได้ในจังหวะที่พอเหมาะเมื่อถึงมือผู้บริโภค โดยทางการอินเดียคาดว่าต้องเพิ่มห้องควบคุมสภาพแวดล้อมอีกกว่า 8,000 ยูนิต จากที่มีเพียง 812 ยูนิต จึงจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตผักและผลไม้ได้ดีกว่านี้

นอกจากนี้ การประกอบธุรกิจ Cold Chain ในอินเดีย ยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นพิเศษสำหรับการนำเข้าสินค้าทุน เช่น อุปกรณ์ห้องเย็น ฉนวนกันความร้อน และประตู-ม่านห้องเย็น โดยจัดเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 5 จากเดิมร้อยละ 10 รวมถึงการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ทำความเย็นเหลือร้อยละ 6 จากเดิมร้อยละ 12.5 ตลอดจนอานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนการลงทุนในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีการบริการเหลือเพียงร้อยละ 0.5 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ตามแผนงบประมาณของอินเดียประจำปี 2559-2560  และยกเลิกการเก็บภาษีบริการเดิมที่อยู่ในอัตราร้อยละ 14 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นธุรกิจเริ่มใหม่ (Start-up) ที่จดทะเบียนระหว่างเมษายน 2559 - มีนาคม 2562 ได้สิทธิยกเว้นภาษีกำไรเป็นเวลา 3-5 ปี 
 

แม้ว่าอินเดียจะมีช่องว่างให้พัฒนาธุรกิจ Modern Cold Chain ได้อีกมาก แต่การลงทุนในธุรกิจนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับธุรกิจต่างชาติเพราะต้องใช้เม็ดเงินค่อนข้างมาก ในการเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ การก่อสร้างอาคาร และลงทุนในการวางระบบเครื่องจักรควบคุมอุณหภูมิ รถขนส่งด้วยความเย็นสินค้า กว่าจะคืนทุนก็ต้องใช้ระยะเวลานาน ทั้งยังต้องเตรียมแผนพัฒนาทักษะแรงงานอินเดียให้มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้ และต้องทำความเข้าใจกับกฎระเบียบซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ 
 
 
โดยสรุป ปัจจัยต่างๆ ล้วนชี้ว่าธุรกิจ Cold Chain ในอินเดียยังขาดแคลน และเป็นหัวใจสำคัญที่จะปลดล็อกให้ผลผลิตภาคเกษตรกรรมและการผลิตสินค้าอาหารมีประสิทธิภาพสูงสุด นำมาสู่ความมีเสถียรภาพของราคาสินค้าตามเป้าหมายของรัฐบาล จึงนับว่าธุรกิจนี้มีลู่ทางค่อนข้างสดใสสำหรับนักลงทุนไทยที่มีความพร้อมเข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนธุรกิจ Modern Cold Chain ได้แก่

ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร หรือการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมอาหาร ที่ให้บริการ Cold Chain ครบวงจรได้รับการตอบรับที่ดี สอดคล้องกับแรงสนับสนุนของทางการ และเปิดโอกาสรอนักลงทุนเข้าไปพัฒนาได้อีกมาก ธุรกิจขนส่งควบคุมอุณหภูมิ มีโอกาสแต่มีความท้าทายสูง ทั้งอุปสรรคจากโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูง และการดำเนินธุรกิจต้องมีเครือข่ายลูกค้าเพียงพอจึงจะสามารถแข่งขันได้ และในส่วนของธุรกิจแปรรูปอาหารของไทยในอินเดียที่มีวางรากฐานมั่นคงมีโอกาสต่อยอดไปสู่กิจกรรม Modern Cold Chain ทั้งลักษณะที่ตอบสนองธุรกิจของตนเอง และขยายธุรกิจให้บริการแก่ภายนอกได้ด้วย 
 
 
โดยพื้นที่ที่มีโอกาสทางธุรกิจน่าจะอยู่ในบริเวณ Mega Food Parks ที่เหมาะแก่การเริ่มทำธุรกิจใหม่ในทุกประเภท ซึ่งการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ด้วยการร่วมทุนกับนักธุรกิจอินเดีย หรือการซื้อกิจการ (M&A) เป็นวิธีที่เอื้อประโยชน์แก่นักลงทุน นอกจากนี้ การพิจารณาพื้นที่ที่มีเครือข่ายนักธุรกิจไทย มีตลาดขนาดใหญ่ และโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างพร้อมในรัฐคุชราต รัฐอานธรประเทศ รัฐทมิฬนาฑู และรัฐมหาราษฏระ น่าจะเพิ่มโอกาสความสำเร็จได้มากกว่าในพื้นที่อื่น 

ทั้งนี้ อินเดียป็นตลาดขนาดใหญ่มีช่องว่างให้ธุรกิจโลจิสติกส์ได้อย่างไม่หยุดยั้ง อีกทั้งเปิดกว้างแก่นักลงทุนต่างชาติ แต่ผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปลงทุนก็นับว่ายังท้าทายอย่างมาก ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักองค์ประกอบด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่มีอยู่จำนวนมากแต่ยังขาดทักษะด้านการให้บริการ Cold Chain อย่างมีประสิทธิภาพ ต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ทำธุรกิจ ค่าใช้จ่ายหมุนเวียน เช่น ค่าสาธารณูปโภค ประกอบกับธุรกิจนี้จำเป็นต้องมีเงินทุนหมุนเวียนที่แข็งแกร่งเพราะต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนค่อนข้างนาน อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงที่อยู่ร้อยละ 6.5 ก็มีผลต่อต้นทุนทางการเงินเช่นกัน นอกจากนี้ การมองหาลูกค้าก็ยังต้องอาศัยช่องทางนักธุรกิจอินเดียเป็นตัวช่วยทำตลาด
 

นอกจากนี้ การเติบโตของ Cold Chain ในอินเดียที่กำลังก้าวไปสู่รูปแบบ Modern Cold Chain นั้น เอื้อประโยชน์อีกด้านให้แก่ธุรกิจไทยที่ต้องใช้ประโยชน์จากธุรกิจนี้สามารถเข้าไปลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต อาทิ การผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม การแปรรูปอาหาร เป็นไปโดยสะดวก ช่วยย่นระยะเวลาการขนส่ง ลดการสูญเสียระหว่างเส้นทางจากฟาร์มสู่ปลายทางมือผู้บริโภคหรือเข้าสู่กระบวนการแปรรูปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน




 

 


LastUpdate 05/05/2559 07:56:44 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 4:03 am