เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.รับแบงก์ลดดอกเบี้ย ไม่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย


 


ผลการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา  ไม่ได้ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก  โดยได้รับการยืนยันจากผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)     นางทองอุไร    ลิ้มปิติ   รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ  ที่ยอมรับว่า  การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ลงในช่วงที่ผ่านมา    อาจจะไม่ช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ  รวมไปถึงการขยายตัวของสินเชื่อได้มากนัก   ส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ   ทำให้คนที่พึ่งรายได้จากดอกเบี้ยผลตอบแทนด้านเงินฝากอาจจะลดลง   แต่อย่างไรก็ดีการลดดอกเบี้ยมีข้อดีในการช่วยลดภาระของคนที่มีหนี้
 
 
 

สถานการณ์ดังกล่าว   ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ต่างคาดว่า  การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่  11 พ.ค.นี้  น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ย  โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย ระบุว่า การส่งออกไทยเริ่มมีลุ้นส่งสัญญาณฟื้นตัว   แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ในขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าการประชุม กนง. ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ก็คาดว่า  กนง.จะตัดสินใจ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบาย  เพื่อรอประเมินภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นว่าจะมีความยั่งยืนเพียงใด โดยมีเหตุผลสนับสนุนคือ   ประการแรก ในช่วงที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพิ่มเติมหลายมาตรการ  ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงหลายเดือนข้างหน้า 

ประการที่สอง ต้นทุนทางการเงินของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้ว ซึ่งน่าจะเอื้อต่อบรรยากาศการลงทุนและบริโภคของภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (ต้นเดือนพฤษภาคม) อายุ 10 ปี มีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 1.80% ซึ่งต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ 1.82% อันบ่งชี้ถึงต้นทุนในการระดมทุนผ่านตลาดเงินของไทยที่อยู่ในระดับต่ำมาก

ประการที่สาม    พัฒนาการของเศรษฐกิจจีนที่ทยอยปรับดีขึ้นคงช่วยลดความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกได้ระดับหนึ่ง โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1/2559 ออกมาดีกว่าที่หลายฝ่ายกังวล   อีกทั้งเครื่องชี้ภาคการผลิตของจีน อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของทางการที่สามารถปรับตัวอยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกัน 2 เดือน รวมถึงการส่งออกของจีนที่เริ่มกลับมาขยายตัว

ขณะที่ดร.พรายพล   คุ้มทรัพย์   นักวิชาการอิสระ   คาดว่า การประชุมจะมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%    เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันถือว่า อยู่ในระดับที่ต่ำแล้ว  และขณะนี้นโยบายการคลัง  จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศออกมา ก็ยังดำเนินการได้ดี

แต่มองว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังคงทรงตัว    เนื่องจากเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตร ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย พร้อมวางรากฐานระยะยาว   โดยไม่เน้นในเรื่องคะแนนนิยมทางการเมือง  หรืออัตราในการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มากจนเกินไป

          



 

LastUpdate 09/05/2559 12:33:53 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 9:22 pm