การตลาด
SAPPE โชว์ไตรมาส 1/59 รายได้เพิ่ม 7%รับตลาดจีน-อินโดฯ พลิกฟื้นดันยอดขาย


 


'เซ็ปเป้' โชว์รายได้ไตรมาส 1/59 เติบโต 7% หลังตลาดหลักอย่างประเทศจีนและอินโดนีเซีย พลิกฟื้นในทิศทางที่ดีขึ้นพร้อมลุยทำกิจกรรม ณ ช่องทางขายช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ด้านผู้บริหารตั้งเป้าปีนี้โต 15% รับเล็งหาพันธมิตรตัวแทนจำหน่ายในจีนเพิ่มเติม ขณะที่ตลาดในประเทศยันเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานไม่กระทบ
นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE  เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/59 (มกราคม-มีนาคม) ว่า บริษัทฯ ทำรายได้รวม 605 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 567 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิของบริษัทใหญ่ 68 ล้านบาท โดยปัจจัยความสำเร็จมาจากตลาดต่างประเทศที่เติบโตดี โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างประเทศจีนและอินโดนีเซียที่มียอดขายเติบโตขึ้น หลังจากที่ตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนได้กระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางจำหน่ายไปถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น ส่งผลดีต่อภาพรวมในไตรมาสแรกปีนี้
 
ขณะที่ตลาดในประเทศอินโดนีเซียก็กลับมามียอดขายเติบโตที่ดี โดยมีรายได้เพิ่มขึ้น 51% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากเศรษฐกิจอินโดนีเซียฟื้นตัวดีขึ้น พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายในอินโดนีเซียทำกิจกรรมการตลาด ณ ช่องทางขาย รวมถึงจัดชั้นวางสินค้าเพื่อสร้างความโดดเด่นให้แก่ผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผู้บริโภคให้การตอบรับที่ดีมากขึ้น ส่วนตลาดในประเทศนั้น บริษัทฯ มีการจัดแคมเปญกิจกรรมการตลาดพร้อมเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่รับฤดูกาลขายสินค้า ส่งผลให้ภาพรวมยอดขายของ SAPPE เติบโตได้ดีขึ้น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAPPE กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายดำเนินงานในปีนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าเติบโต 15% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยมาจากยอดขายตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีประเทศจีนและอินโดนีเซียที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 จากกิจกรรมทางการตลาดที่ออกไปในช่วงหน้าร้อน แม้จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางการขายและการตลาดในไตรมาส 1 ปีนี้อยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่ระดับค่าใช้จ่ายโดยรวมทั้งปีจะยังคงอยู่ในงบประมาณเดิมที่วางไว้

สำหรับประเด็นในเรื่องภาษีสรรพสามิต แม้ภาครัฐมีแนวคิดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมน้ำตาลเกินมาตรฐาน โดยการจัดเก็บมี 2 อัตรา ได้แก่ 20% และ 25% นั้น แต่เชื่อว่าจากนโยบายดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการดำเนินงานของ SAPPE เนื่องจากผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ทำตลาดในประเทศ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์กาแฟผงสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ ‘เพรียว คอฟฟี่’ และกลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริ้ง ภายใต้แบรนด์ ‘เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้ง’ นั้น  เป็นแบรนด์หลักในการทำการตลาดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์กาแฟมีการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบการเกษตรภายในประเทศ ในขณะที่กลุ่มฟังก์ชันนอล ดริ้ง อย่าง ‘เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้ง’ นั้น ไม่ใช้น้ำตาลเป็นสารให้ความหวาน จึงไม่เข้าเกณฑ์การเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่ม
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 พ.ค. 2559 เวลา : 14:21:53
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:31 am