เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เตรียมรับมือ 'เอเชีย' ศูนย์กลางเทคโนโลยีโลก


 


ภูมิภาคเอเชียจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต  เนื่องจากจำนวนประชากรที่มีมาก  ทำให้เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการขยายธุรกิจของกิจการต่างๆ    จากการสำรวจของบริษัท PwC   Consulting (ประเทศไทย)  นางสาว วิไลพร   ทวีลาภพันทอง   หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา  ก็ยอมรับว่า   มีแนวโน้มที่เอเชียจะกลายมาเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีในอนาคต  โดยจำนวนชนชั้นกลางที่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก  จะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นในเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรกลุ่มนี้ รวมไปถึงกลุ่มประชากรที่เกิดและเติบโตในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Natives) ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยในเอเชีย
 

ซึ่งปัจจุบันจีนยังเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรที่ใช้สมาร์ทโฟนและตลาดสินเชื่อบุคคลต่อบุคคล หรือ peer-to-peer (P2P) lending ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งประชากรส่วนใหญ่จะใช้บริการบนแพลตฟอร์มการกู้ยืมเงินออนไลน์แบบบุคคลต่อบุคคล สะท้อนให้เห็นการเติบโตของจำนวนผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการด้านเทคโนโลยีทางการเงินในภูมิภาคนี้

 
และจากรายงานข่าวในประเทศจีน พบว่า ในปี 2558 มูลค่าตลาดสินเชื่อบุคคลต่อบุคคลของจีนอยู่ที่ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 289% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสินเชื่อระหว่างบุคคลออนไลน์อยู่ที่ 2,595 ราย เติบโตเกือบ 2.5 เท่าจากปีที่ผ่านมาเช่นกัน 
 
 
นอกจากนี้ จากผลสำรวจพบว่า นักลงทุนหันมาสนใจลงทุนฟินเทคในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นเช่นกัน  โดยตลาดฟินเทคในเอเชียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และเอเชียยังเป็นตลาดผู้นำโลกในการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) การทดลอง และเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆ อีกด้วย
 

ทั้งนี้ Pwc คาดว่า ในปี 2563 จะเห็นธุรกิจบริการทางการเงินของสหรัฐหลายแห่งใช้เอเชียเป็นศูนย์กลางในการทำงานอย่างเต็มรูปแบบในการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเพื่อการใช้งานทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
 

ดังนั้นภารกิจเร่งด่วนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน คือ การอัพเดทรูปแบบการดำเนินการของระบบไอทีองค์กรและลดความซ้ำซ้อนของระบบ    ไอทีแบบดั้งเดิม (Legacy System) เพื่อบริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ (Chief Information Officers) และผู้บริหารระดับสูง  ต้องเร่งคิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับคู่แข่ง และตลาดที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง โดยต้องสรรหาบุคลากรที่มีทักษะสูงที่รู้ทันและตอบสนองต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้ได้ และต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

รวมทั้งบรรจุแผนรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต่อจากนี้ไป ธุรกิจจะต้องไม่รับมือกับความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์เมื่อเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีมาตรการเชิงรุกในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยร้ายนี้ด้วย
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 มิ.ย. 2559 เวลา : 08:30:39
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 1:14 am