เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
วิจัยกรุงศรีระบุศก.ไทยพื้นฐานดี ถูกกระทบจากBrexit ไม่มาก


 


วิจัยกรุงศรี บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ออกบทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในสภาวะ ‘Brexit’

วิจัยกรุงศรีได้รวบรวมผลการศึกษาจากงานวิจัยเชิงวิชาการ รวมถึงข้อมูลความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และได้นำเสนอข้อสรุปดังนี้

1. ระยะสั้น สหราชอาณาจักรอาจประสบกับสภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจจากความผันผวนทางการเงินที่เกิดขึ้น จากนั้น ผลที่เกิดจากการสูญเสียความได้เปรียบทางการค้าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจชะลอตัวลงกว่าในภาวะปกติถึง 3.7% ในระยะยาว 2. การส่งผ่านผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นผ่านความผันผวนในตลาดการเงินระหว่างประเทศในระยะสั้น และจากความต้องการสินค้าส่งออกของไทยลดลงในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ระบบเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงค่อนข้างมากต่อความผันผวนของตลาดเงินตราระหว่างประเทศ นอกจากนั้น ความเชื่อมโยงทางการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสหราชอาณาจักรที่อยู่ในระดับไม่สูงมาก ทำให้การส่งออกไทยอาจลดลง 0.45% เพิ่มเติมจากภาวะปกติ


ผลกระทบต่อประเทศสหราชอาณาจักรจะเป็นอย่างไร?

งานศึกษาจาก National Institute of Economic and Social Research (NIESR) หากค่าเงินปอนด์อ่อนลง 20% เทียบกับค่าเงินเงินอื่นๆ ในตระกร้าสกุลเงิน ความผันผวนจะเกิดขึ้นในระยะสั้น ค่าเงินที่อ่อน เงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการตึงตัวในภาคการเงิน อาจทำให้สหราชอาณาจักรประสบกับภาวะ Stagflation (NIESR) มีการประมาณการเอาไว้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะลดลงจากที่ควรจะเป็นถึง 1% ในปี 2017 

ในระยะยาว สหราชอาณาจักรอาจสูญเสียความได้เปรียบทางการค้าจาก FTA ที่มีกับกลุ่มประเทศยุโรป ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด GDP Growth อาจลดลงถึง 3.7% ในปี 2030 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบอาจน้อยกว่าที่ประมาณการเอาไว้หากรูปแบบการค้าปรับเปลี่ยนมาคล้ายกับที่นอร์เวย์หรือสวิตเซอร์แลนด์มีกับกลุ่มประเทศยุโรป กล่าวคือ ยังคงมีสิทธิพิเศษทางการค้าในระดับทวิภาคีกัน
 
ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร
 
 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร?

Brexit จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางการค้า และช่องทางการเงิน ในทางการค้า พบว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยไปสหราชอาณาจักรมีเพียง 1.8% ของการส่งออกรวมทั้งหมด หากนำผลการศึกษาจาก NIESR ที่ว่าการนำเข้าของสหราชอาณาจักรจะลดลงได้เฉลี่ย 25% มาร่วมวิเคราะห์ ดังนั้น ผลกระทบต่อการส่งออกไทยจะอยู่ในราว -0.45% นอกจากนั้น หากรวมผลจากการค้าทางอ้อม ข้อมูลยังชี้ว่า ผลกระทบก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ผลกระทบจากช่องทางการเงินจะเกิดจากความผันผวนของการไหลของกระแสเงินระหว่างประเทศ จากข้อมูลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ต่างประเทศค่อนข้างสูง ปัจจุบัน สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP มีค่าเป็นบวกค่อนข้างมาก ดังนั้น เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานค่อนข้างดี และน่าจะยังคงผ่านมรสุมทางเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นได้
 
 
 
 
 
 
สัดส่วนทุนสำรองต่อหนี้นอกประเทศ และดุลบัญชีเดินสะพัด
ผลการทำประชามติในวันที่ 23 มิถุนายน ได้เพิ่มความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจของคนในระบบเศรษฐกิจ และมีผลต่อเนื่องไปยังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางมากขึ้น เราคงจะประมาทไม่ได้ การทำนโยบายทางเศรษฐกิจคงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะต่อไป 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 มิ.ย. 2559 เวลา : 19:33:53
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 4:49 pm