การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรม สบส. กำชับคลินิกกว่า 16,000 แห่งทั่วประเทศห้ามทำแท้งฝ่าฝืนมีโทษ


 


อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ คุมเข้มคลินิกเวชกรรม เวชกรรมเฉพาะทาง รวมทั้งคลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์และคลินิกการผดุงครรภ์ชั้น 2 ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการกว่า 16,000 แห่งทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายสถานพยาบาลและมาตรฐานวิชาชีพ ห้ามทำแท้ง หากพบผู้ดำเนินการจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะถูกดำเนินการด้านจริยธรรมวิชาชีพด้วย     
 
จากกรณีที่ตำรวจจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ทหารนำหมายศาลเข้าตรวจค้นคลินิกเวชกรรมแห่งหนึ่ง ที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559  หลังสืบทราบว่า คลินิกดังกล่าวเปิดรับทำแท้งให้กับหญิงรายหนึ่งที่ตั้งครรภ์  8 เดือน  โดยใช้ยาเหน็บทางช่องคลอดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2559 และเด็กคลอดวันที่ 4 กรกฎาคม  โดยหญิงรายนี้ได้นำซากเด็กทารกไปทิ้งในถังขยะ และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ นั้น 
ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว  วันนี้ (5 กรกฎาคม 2559) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น กรม สบส. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ที่ดูแลพื้นที่เพื่อร่วมตรวจสอบมาตรฐานคลินิกดังกล่าวแล้ว ซึ่งหากผลพิสูจน์พบหลักฐานว่าแพทย์ผู้ดำเนินการมีการทำแท้งให้หญิงตั้งครรภ์ 8 เดือนจริงก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ข้อหาไม่ควบคุมมาตรฐานบริการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 
อย่างไรก็ดี การยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยสามารถทำได้ภายใต้ "ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548"Ž ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการฯ และเงื่อนไขทางด้านสุขภาพร่างกาย จิตใจของหญิงตั้งครรภ์ แพทย์ไม่สามารถตัดสินใจโดยตัวคนเดียวได้ ดังนั้น กรม สบส. จึงขอเน้นย้ำให้คลินิกต่างๆที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากกรม สบส. ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งมีกว่า 16,000 แห่งทั่วประเทศ ให้เข้มมาตรฐานวิชาชีพอย่างเคร่งครัด โดยได้ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้เฝ้าระวังการกระทำผิด หากพบจะลงโทษทันทีโดยไม่ละเว้น
ทางด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า คลินิกที่อยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในเรื่องของการทำแท้งมี 4 ประเภท ประกอบด้วย 1.คลินิกเวชกรรม 8,420 แห่ง 2.คลินิกเวชกรรมเฉพาะทาง 2,484 แห่ง 3.คลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์ 5,513 แห่ง และ4.คลินิกการผดุงครรภ์ชั้น 2 จำนวน 242 แห่ง รวมทั้งสิ้น 16,659 แห่ง โดยประสานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ได้รับมอบอำนาจจากกรม สบส. ในการดูแล ควบคุม กำกับสถานพยาบาลเอกชนในพื้นที่รับผิดชอบให้คุมเข้มทั้งผู้ดำเนินการ ผู้ประกอบวิชาชีพ และการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมี 5 ด้าน ได้แก่ สถานที่ บุคลากร เครื่องมือเวชภัณฑ์ การให้บริการ และความปลอดภัย
 
หากพบแห่งใดกระทำผิดจะมีโทษ โดยผู้ดำเนินการซึ่งเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้ป่วยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 นอกจากนี้จะประสานไปยังสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการลงโทษทางด้านจริยธรรมวิชาชีพนั้นๆ ซึ่งมีโทษถึงขั้นพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ต่อไปด้วย
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ก.ค. 2559 เวลา : 13:55:44
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:30 am