การตลาด
สกู๊ป...กันตาร์แนะแบรนด์ยอดนิยมหนักแน่นสู้วิกฤติเศรษฐกิจ






 


บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล(ไทยแลนด์) จำกัด   ถือเป็นผู้ดำเนินธุรกิจด้านการวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเชิงลึก  ที่มีความเชี่ยวชาญในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภคที่มีอัตราการบริโภคสูง  หรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เนื่องจากรูปแบบของการการทำงานวิจัยบริษัท กันตาร์ฯ จะมีการนำเสนอการวิจัยด้านพฤติกรรมการบริโภคที่มีการซื้อจริง  โดยดำเนินการในรูปแบบ คอนซูเมอร์ พาแนล (Consumer Panel)  ที่เน้นที่ตัวผู้บริโภคเป็นการใช้ฐานกลุ่มผู้บริโภคตัวอย่างขนาดใหญ่  ในลักษณะเป็น “ครัวเรือน”  ให้ความสำคัญทั้งผู้บริโภคที่เป็นคนเมือง และ เขตต่างจังหวัด  เพื่อให้สามารถใช้เป็นตัวแทนแสดงผลพฤติกรรมการซื้อของประชากรทั่วประเทศกว่า  22.2  ล้านครัวเรือนในประเทศไทย

 
ทั้งนี้ จากวิธีการเก็บข้อมูลจาก “ตะกร้าสินค้า”  ที่ผู้บริโภคทำการจับจ่ายจริง และนำมาวิเคราะห์ประมวลผล  ด้วยดัชนี  CRP หรือ Consumer Reach Point  ซึ่งเป็นอัตราการตัดสินใจเลือกซื้อจริงของสินค้านั้น ๆ  ทำให้ข้อมูลที่ได้มามีความแม่นยำสูง  และสะท้อนถึงภาพความเป็นจริงของกำลังซื้อผู้บริโภคในขณะนั้น  และจากผลการวิจัยล่าสุดก็พบว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศไทยยังอยู่ในภาวะที่ถดถอย

 
ภาพรวมที่เกิดขึ้นดังกล่าว บริษัท กันตาร์ฯ มองว่า นักการตลาดยังคงต้องหนักแน่นกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งหลายที่ยังคงเป็นอยู่  ขณะเดียวกันแบรนด์สินค้าก็ต้องมีการทำการตลาดอย่างชาญฉลาด  พร้อมกับมองหาหนทางที่สร้างแบรนด์ให้เติบโตจนได้  เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะลำบาก  ส่งผลให้การขยายตัวของจีนเป็นอย่างเฉื่อยชา  รวมถึงยุโรปก็กำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย และในตะวันออกกลางก็ยังคงอยู่ในภาวะตึงเครียดไม่มีวี่แววว่าจะผ่อนคลายลง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพรวมกำลังซื้อของผู้บริโภคจะยังคงชะลอตัว แต่ในด้านของความนิยมการซื้อสินค้าในแบรนด์ที่ตัวเองชอบยังคงมีความโดดเด่น  เห็นได้จากผลการวิจัย Brand Footprint Global Ranking Top 50 ที่บริษัท  กันตาร์ฯ ได้จัดทำขึ้นเป็นรายปี  และจากการเก็บข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2558  ถือเป็นปีที่ 4  ของการจัดอันดับแบรนด์ในระดับโลก และแบรนด์ในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมในปี 2558  ซึ่งได้ทำการสรุปเป็นอันดับแบรนด์ของทุกกลุ่มสินค้าและแบรนด์ฮิตที่ถูกเลือกซื้อแยกตามกลุ่มประเภทสินค้า ทั้งระดับโลก และ ในประเทศไทย พบว่า  แบรนด์ดาวรุ่งที่เน้นกลุ่มสินค้าที่มีอัตราการบริโภคสูง FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ยังคงเป็นกลุ่มเครื่องดื่ม, กลุ่มอาหาร, กลุ่มสุขภาพและความงาม, กลุ่มในครัวเรือนและลูกน้อย และกลุ่มผู้ค้าปลีก  
 


นายฮาร์เวิร์ด ชาง  กรรมการผู้จัดการ  บริษัท กันตาร์  เวิร์ลด พลานแนล(ไทยแลนด์) จำกัด  กล่าวว่า  “Brand Footprint Global Ranking Top 50”  ใช้ฐานการทำวิจัยที่ใหญ่ที่สุด  เพื่อให้ได้ข้อมูลและผลการจัดอันดับแบรนด์ที่แม่นยำที่สุด  โดยทำการวิเคราะห์แบรนด์ที่น่าสนใจกว่า  15,000 แบรนด์ทั่วโลก  ในจำนวนนี้เป็นสินค้า FMCG 200 กลุ่ม  ทำการวิจัยรูปแบบ “Consumer Panel”  ที่ใช้ฐานกลุ่มตัวอย่างกว่า 412,000 ครัวเรือน  ครอบคลุม 5  ทวีป  รวม 44 ประเทศ  กับจำนวนการตัดสินใจซื้อถึง  300,000 ล้านครั้งของเหล่านักช้อปสินค้า FMCG  ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะทำให้การสรุปผลวิจัยและข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคมีความแม่นยำที่สุด 

ทั้งนี้  จากผลการวิจัยดังกล่าวพบว่า สุดยอดแบรนด์ที่ผู้บริโภคเลือกเลือกซื้อสูงสุดประจำปี 2558   - 2015 Brand Footprint Report”  และ Brand Footprint Global Ranking Top 50”   ในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค FMCG  แบรนด์ที่ติดอันดับที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสูงสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย โคคา-โคล่า,  คอลเกต,  ไลฟ์บอย,  แม๊กกี้,  เลย์,  เป๊ปซี่,  เนสกาแฟ,  Indo Mie,  คนอร์  และโดฟ

 
สำหรับการจัดอันดับในประเทศไทย   สุดยอดแบรนด์ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสูงสุด และผู้ค้าปลีกที่มีอัตราถูกซื้อสูงสุดอันดับ 1 – 3  แยกตามกลุ่มสินค้า  ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องดื่ม อันดับ 1  คือ  เนสกาแฟ อันดับ 2 คือ แลคตาซอย  และอันดับ 3 คือ  ดัชมิลล์  กลุ่มอาหาร อันดับ 1 คือ ดัชมิลล์  อันดับ 2 คือ มาม่า อันดับ 3 คือ เลย์ กลุ่มสุขภาพและความงาม อันดับ 1คือ คอลเกต  อันดับ 2 คือ ซันซิล  อันดับ 3 คือ โพรเท็ค กลุ่มสินค้าในครัวเรือน อันดับ 1 คือ บรีส   อันดับ 2 ซันไลท์ อันดับ 3 คือ คอมฟอร์ท  และกลุ่มผู้ค้าปลีก อันดับ 1  คือ เซเว่น อีเลฟเว่น  อันดับ 2 คือ เทสโก้ โลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต อันดับ 3 คือ เทสโก้ โลตัส เอ็กเพรส
                
ส่วนนแบรนด์และผู้ค้าปลีกดาวรุ่ง อันดับ 1 – 3 แยกตามกลุ่มสินค้า ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องดื่ม  อันดับ 1 คือ เป๊ปซี่  อันดับ 2 คือ เบอร์ดี้  อันดับ 3 คือ คริสตัล กลุ่มอาหาร อันดับ 1  คือ ยาคูลท์ อันดับ 2 คือ แจ็กซ์  อันดับ 3 คือ โก๋แก่ กลุ่มสุขภาพและความงาม อันดับ 1 คือ ซอลส์  อันดับ 2 คือ อิงอร   อันดับ 3 คือ เบนเนท  กลุ่มสินค้าในครัวเรือน อันดับ 1  คือ ไฮยีน อันดับ 2 คือ ดาวน์นี่  อันดับ 3 คือ 108 ช็อป  กลุ่มผู้ค้าปลีก อันดับ 1 คือ เทสโก้ โลตัส เอ็กเพรส  อันดับ 2 คือ แม็คโคร อันดับ 3 คือ เทสโก้ โลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต

นอกเหนือจากการจัดอันดับแบรนด์ยอดนิยม 50 อันดับของโลกแล้ว บริษัท กันตาร์ฯ   ยังเพิ่มเนื้อหาและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ถูกกดดันจากแบรนด์ท้องถิ่น Local Brand  ที่ส่งผลต่อการแข่งขันอย่างรุนแรง ในตลาดโลก  รวมถึงการสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของแบรนด์เล็ก ๆ ในระดับประเทศ  ซึ่งเราต้องคำนึงถึงผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ  ที่เป็นแบรนด์ Local ที่น่าจับตา และแบรนด์ที่มีแนวโน้มที่จะไต่ขึ้นอันดับอีกด้วย

นายฮาร์เวิร์ด  กล่าวว่า   ข้อมูลดังกล่าวยังถือเป็นประโยชน์กับนักการตลาดในประเทศไทยที่สนใจข้อมูลบทวิเคราะห์ รวมถึงข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงเป็นรายงานที่บอกถึงแนวโน้มการเติบโตและถดถอยของแบรนด์  ตลอดจน พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นนัยสำคัญ  เพื่อการปรับตัวอย่างทันท่วงทีในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน

ด้าน น.ส.สุพัชรมณี ศรีวลี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ดัชมิลล์ กล่าวว่า กลยุทธ์ที่ทำให้ดัชมิลล์ประสบความสำเร็จ คือ ตัวสินค้าต้องมีคุณภาพที่ดี และมีความหลากหลาย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทมีการพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็พยายามรีโนเวทหรือปรับปรุงสินค้า ควบคู่ไปกับการสร้างอินโนเวชั่นให้กับสินค้าอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สินค้าใหม่ที่พัฒนาออกมาทำตลาดตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด
 

ขณะเดียวกันนายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ ผู้ประกอบการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เปิดเผยถึงความสำเร็จของร้านเซเว่น อีเลฟเว่นว่า  กลยุทธ์ความสำเร็จของร้านเซเว่นฯ สามารถแบ่งออกเป็น 4 ข้อหลัก คือ การมีจำนวนสาขาที่ครอบคลุมผู้บริโภค การปรับตัวตามความต้องการของผู้บริโภค การมีพนักงานที่บริการที่ดี และการมีระบบโลจิสติกหรือการขนส่งที่ดี ขณะที่วิสัยทัศน์อีก  5 ปีบริษัทจะดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ 4 ข้อ คือ 1.การเปลี่ยนจากร้านสะดวกซื้อเป็นร้านอาหารสะดวกซื้อ เพื่อให้ลูกค้าบริโภคสินค้าได้มากขึ้น เช่น การมีเมนูอาหารตอนเช้า เป็นต้น 2.การเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลายเริ่มตั้งแต่กลุ่มเด็กถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ควบคู่ไปกับการขยายสาขาเจาะไปยังอำเภอ และตำบล  3. การเพิ่มกลุ่มสินค้าใหม่ๆ เข้ามาจำหน่ายภายในร้าน และ 4.คือ การเพิ่มความหลากหลายในสินค้า
                
 
ปิดท้ายที่น.ส. พัทนัย เหลืองตระกูล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดกาแฟปรุงสำเร็จ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) กล่าวว่า  ความสำเร็จของเนสกาแฟ คือ  การพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย เริ่มตั้งแต่การเปิดตัวเรสกาแฟเอ็กซ์ตร้า เนสกาแฟเช็ค เนสกาแฟคอฟฟี่มิกซ์ เนสกาแฟทรีอินวัน และล่าสุดก็เปิดตัว เนสกาแฟ เบลนด์แอนด์บรู เข้ามาทำตลาด หลังยกเลิกการทำตลาดกาแฟทรีอินวันไปตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าที่ตรงกับความต้องการ
 


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ก.ค. 2559 เวลา : 13:36:51
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 11:29 am