การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กปน. รินหลวง ปลูกป่าด้วยใจ ปลูกใจให้ป่า


 


ช่วงเวลา 5 ปี ไม้ใหญ่ต้นหนึ่งอาจจะเติบโตเพียงเล็กน้อย ยังให้ร่มเงาไม่ได้มากนัก แต่สำหรับความผูกพันระหว่างการประปา         นครหลวง (กปน.) กับชุมชนรินหลวง จ.เชียงใหม่ ได้เติบใหญ่ขึ้นอย่างแข็งแรงและขยายออกไปเรื่อยๆ ด้วยการร่วมมือร่วมใจกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำไปพร้อมๆ กับพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน
 
จากความมุ่งมั่นในภารกิจของ กปน. ในการผลิตน้ำประปาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้ได้น้ำประปาที่มีคุณภาพบริการประชาชนในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ กว่า 5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งน้ำเหล่านี้จะไปหล่อเลี้ยงประชาชนไม่ได้เลย หากไม่ดูแลรักษาต้นน้ำไว้             ให้สมบูรณ์ จึงเป็นที่มาของโครงการ “การประปานครหลวงรักษ์ป่าต้นน้ำ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ด้วยการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเก็บกักน้ำ มาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นปีที่ 5 และเป็นปีสุดท้ายของโครงการฯ ระยะแรก 
 
 

พื้นที่ดำเนินการโครงการคือ ชุมชนบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เนื่องจากเป็นชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำแม่ปิง อันเป็นหนึ่งในต้นน้ำสายสำคัญของ กปน. ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านรินหลวง คือการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ถั่ว มันสำปะหลัง จนหน้าดินเสียความอุดมสมบูรณ์ เมื่อเกิดน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ทำให้น้ำท่วมโรงเรียนบ้านรินหลวงซึ่งเป็นแอ่งกระทะเป็นประจำ จนนักเรียนไม่สามารถเรียนหนังสือและทำกิจกรรมต่างๆ ได้ คณะผู้บริหารและอาสาสมัคร กปน. จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานจากภาครัฐในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการลุ่มน้ำปิง และประชาชนในชุมชน ร่วมปลูกต้นไม้กว่า 70,000 ต้น ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำกว่า 550 ไร่ และสร้างฝายชะลอน้ำกว่า 585 ฝาย เพื่อให้พื้นที่ต้นน้ำได้ผลิตและกักเก็บน้ำอย่างสมบูรณ์ 
 

โครงการฯ ดังกล่าว นอกจากจะก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับ กปน. ในการสร้างจิตสำนึก สร้างสรรค์สังคมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังตอบสนองนโยบายสร้างการมีส่วนร่วมและมุ่งประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาลแล้ว ผลสำเร็จของโครงการฯ นี้ ยังส่งผลให้ กปน. ได้รับรางวัล Asia Responsible Entrepreneurship Awards 2016 (AREA) สาขา Green Leadership ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากผลงานร่วมแข่งขันในประเทศต่างๆ กว่า 300 โครงการ 
 


สุริยันต์ วงศ์เมืองแก่น หนึ่งในทีมอาสาสมัคร กปน. ที่ร่วมแรงร่วมใจกับโครงการฯ มาตั้งแต่แรกเริ่ม และได้รับการคัดเลือกให้เป็น “MWA SR Ambassador 2016” ฝ่ายชาย หรือทูตเผยแพร่ความรับผิดชอบต่อสังคมจาก กปน. กล่าวว่า ตนเองในฐานะที่อยู่ปลายน้ำ เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมดูแลต้นน้ำ การปลูกป่าไม่ใช่เพียงแค่ไปถึงพื้นที่แล้วปลูก เพราะถ้าทำอย่างนั้น จะไม่มีคนเห็นคุณค่า       แต่ กปน. เข้าไปสร้างความเข้าใจกับชุมชน   ว่ามาทำอะไร และช่วยพัฒนาชุมชนและโรงเรียน สร้างแนวป้องกันน้ำท่วม สร้างลานอเนกประสงค์ ปรับปรุงอาคารเรียน สร้างระบบประปาเพื่อให้มีน้ำสะอาดในโรงเรียน เช่น ติดเครื่องกรองน้ำ ขุดบ่อน้ำ สร้างหอสูงเพิ่มแรงดันน้ำ ปรับปรุงบ่อน้ำผุด เมื่อเกิดความเชื่อใจกัน  การช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนจึงไม่ใช่เรื่องยาก  ทุกครั้งที่อาสาสมัครได้ร่วมปลูกป่า ชุมชนก็ยินดีที่จะดูแลต้นไม้ให้เติบใหญ่ต่อไป ซึ่งไม้ที่ปลูกมีทั้งประดู่ พะยูง คูน มะค่า สัก และหญ้าแฝก เป็นต้นไม้ที่ช่วยอุ้มดินและน้ำได้อย่างดี หนึ่งในสิ่งที่ภาคภูมิใจคือ จากปีแรกที่ยังไม่มีคนเข้าใจว่าปลูกป่าทำไม ปีต่อมาค่อยๆ มีคนในชุมชนมาร่วมมือมากขึ้น จนปีที่ 4-5 เริ่มมีคนนอกชุมชนมาร่วมปลูกป่าด้วย เพราะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
 
 

ดร. วิภาดา วิระกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านรินหลวง เล่าด้วยความภูมิใจว่า เมื่อก่อนโรงเรียนบ้านรินหลวงเป็นโรงเรียนที่ไม่มีพื้นที่  ทำกิจกรรม เด็กๆ ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนรู้ แต่ตอนนี้โรงเรียนบ้านรินหลวงมีสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ที่พร้อมและปลอดภัยจากน้ำท่วม รวมทั้งมีน้ำสะอาดพอกินพอใช้จากระบบประปาของ กปน. โครงการฯ นี้ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น จนเด็กๆ ดีใจกระตือรือร้นที่จะร่วมมือกับกิจกรรมของพี่ๆ กปน. 

เด็กๆ รู้สึกว่าป่าไม้มีค่ากับเขา ไม่อยากทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะโรงเรียนเป็นจุดปลูกฝังให้เด็กๆ เข้าใจว่าเมื่อพื้นที่ป่าลดลงจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาบ้าง ที่เห็นได้ชัดคือ ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ต้นไม้ในชุมชนไม่ถูกทำลาย ไฟป่า   ก็ลดลง และตอนนี้ชาวบ้านยังหันมาปลูกไม้ผล เช่น ขนุน มะม่วงที่ กปน. ให้ต้นกล้ามาด้วย จากเดิมที่ทำแต่ไร่ข้าวโพด

 

สุภัทราพร แอ้สือ หรือน้องวิด้า อายุ 18 ปี นักเรียนโรงเรียนบ้านรินหลวง อธิบายถึงสภาพพื้นที่ว่า เมื่อก่อนบริเวณชุมชนรินหลวงเต็มไปด้วยพื้นที่ไร่ ทั้งไร่ข้าวโพด ไร่ถั่ว ซึ่งทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำ แต่ปัจจุบันชุมชนมีต้นไม้ใหญ่มากขึ้น คิดว่าบางคนอาจจะยอมเสียพื้นที่ทำไร่ไป แต่การที่มีทั้งป่าทั้งไร่เป็นสิ่งที่ดี ทำให้ช่วยซับน้ำ เมื่อก่อนโรงเรียนเคยน้ำท่วมมาตลอดแทบทุกปี เพราะไม่มีต้นไม้ช่วยไว้ 

แม้โครงการฯ ในปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายของระยะที่ 1 แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือร่วมใจเท่านั้น  หลังจากนี้ไป ไม่เพียงต้นไม้ในชุมชนเท่านั้นที่เติบใหญ่ แต่ความสัมพันธ์ของ กปน. หน่วยงานเครือข่าย                และบ้านรินหลวงที่ร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยความเข้าใจ จะช่วยกันดูแลป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 ก.ค. 2559 เวลา : 09:05:32
16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 6:32 pm