เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.-รัฐ ไม่ห่วงเงินลงทุนโดยตรงครึ่งปีแรกวูบ


 


เงินลงทุนโดยตรง(FDI)  ของไทยในช่วงครึ่งปีแรก ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงาน พบว่า มีวงเงินเพียง 347 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.21 หมื่นล้านบาท   หากคิดอัตราแลกเปลี่ยนเปิดตลาด เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 34.79 บาท/เหรียญสหรัฐ   ลดลงค่อนข้างมากประมาณ 91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 4,203 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.46 แสนล้านบาท
         
ซึ่งสาเหตุที่เอฟดีไอลดลงมาก   ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างการผลิตของประเทศไทยเองที่ไม่ได้ผลิตสินค้าที่ทันสมัย และอยู่ระหว่างการปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายด้าน   ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกยังซบเซาต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างประเทศชะลอการลงทุน   และไทยเองยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น    สร้างความไม่แน่นอนให้กับนักลงทุน    ทั้งนี้ เอฟดีไอของไทยในครึ่งแรกของปีนี้ถือว่ามีมูลค่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2548-2558    แต่ธปท.เชื่อว่า ครึ่งหลังของปีนี้การลงทุนจะปรับดีขึ้นและมีเอฟดีไอเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
  
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)   ชี้แจงว่า FDI  ที่ลดลงค่อนข้างมากในช่วงครึ่งปีแรกของปี 59 นั้น    ส่วนสำคัญเกิดจากรายการใหญ่ที่นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด ให้แก่นักลงทุนไทยจำนวน 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือปริมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท ซึ่งนักลงทุน ต่างชาตินำเงินออกไป ดังนั้น เมื่อไม่รวมรายการ   ดังกล่าวเงินลงทุนส่วนนี้ไม่ต่างกับปีก่อน จึงไม่ได้กระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจมากนักและเห็นว่าภาพรวมการลงทุน FDI ยังขยายตัวดีอยู่
 
        
 
ด้านนางรุ่ง  มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. ก็ย้ำว่า  เม็ดเงิน FDI  ที่ลดลงไม่ได้น่าตกใจ เพราะมีผลของฐานสูงเกิดจากช่วงต้นปี 58 มี FDI รายการใหญ่เข้ามาเพิ่มทุนในธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นปัจจัยบวกพิเศษ   อีกทั้งมีผลของสินเชื่อการค้าของกิจการในเครือ (Trade Credit) ลดลง สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าของไทยที่หดตัวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เม็ดเงิน FDI ขาเข้าในส่วนของหุ้นทุน (Equity) ซึ่งเป็นตัวชี้เม็ดเงินลงทุนใหม่นั้นยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง
 
 
 
สอดคล้องกับนายกอบศักดิ์  ภูตระกูล  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ  ที่ระบุว่า   ยอดเงินลงทุนโดยตรงของประเทศในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 59    เมื่อหักรายการที่นักลงทุนไทยคือกลุ่มทีซีซี กรุ๊ป ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ที่อยู่ในไทย จากกลุ่มคาสิโนกรุ๊ป กลุ่มบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ ของฝรั่งเศส ไปแล้ว ยังคงมียอดเงินลงทุน 3,797 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.32 แสนล้านบาท ขณะที่ตลอดทั้งปี 58 มียอดเงินลงทุนโดยตรงทั้งสิ้น 7,087 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.48 แสนล้านบาท
         
และเมื่อรวมกับการขอรับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งเป็นความมั่นใจของเอกชนในอนาคตที่ต้องการลงทุนในไทยในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา ซึ่งมีมากถึง 1.23 แสนล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 58 ถึง 400% ด้วยแล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นว่า   เอกชนยังมั่นใจในเศรษฐกิจไทย จึงนำเงินเข้ามาลงทุน โดยคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี 59 จะยังคงมีเงินลงทุนโดยตรงเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

ส่วนมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้เคยออกบทวิเคราะห์ประจำปี    โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว  สะท้อนว่าไทยเผชิญปัญหาประสิทธิภาพ การแข่งขัน  ส่วนหนึ่งผลจากเงินลงทุนโดยตรงของผู้ลงทุนต่างประเทศเริ่มลดลง  อาจส่งผลการเติบโตเศรษฐกิจระยะยาว และมีสัญญาณบอกถึงความเสี่ยงทาง การเมืองที่เพิ่มขึ้น   ซึ่งประเด็นประสิทธิภาพทางการแข่งขันที่ลดลงของไทยนั้น   มูดี้ส์ระบุว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เห็นได้จากการที่ไทยครองสัดส่วนน้อยลงในกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ   ที่ไหลเข้าสู่สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ส.ค. 2559 เวลา : 18:05:17
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:15 pm