เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
'ลงทะเบียนคนจน'จุดเริ่มปรับสวัสดิการรัฐ


 


ผ่านไปครึ่งทางแล้วกับนโยบายลงทะเบียนคนจนของรัฐบาล  ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา  และจะสิ้นสุดในวันที่ 15 สิงหาคมนี้    ซึ่งนายวิสุทธิ์  ศรีสุพรรณ   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง   ย้ำว่า   กระทรวงการคลัง จะไม่ขยาย ระยะเวลาการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการของรัฐในรอบปี 2559  ที่เปิดรับลงทะเบียนมาตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม และจะ โดยยอดล่าสุด มีผู้เข้ามาลงทะเบียนแล้วกว่า 1.93 ล้านราย    จากเป้าหมายที่คาดว่ามีผู้มา ลงทะเบียนประมาณ 5 ล้านราย
 
 
 
         
โดยคาดว่าในช่วงที่เหลือก่อนปิดรับลงทะเบียนเชื่อว่า   ประชาชนจะทยอยเข้ามาลงทะเบียนกันมากขึ้น  ส่วนที่ยังไม่ทราบหรือมาลงทะเบียนไม่ทัน ก็จะสามารถเข้ามาลงทะเบียนได้อีกครั้งในปีถัดไป ที่จะเปิดลงทะเบียนทุกปีในช่วงเดือนกันยายน   ซึ่งเป้าหมายของการลงทะเบียนดังกล่าว เนื่องจากทางการต้องการทราบข้อมูลคนยากจน คนพิการ และผู้สูงอายุว่ามีเท่าไร มีรายได้ มีหนี้สินอย่างไรบ้าง

นายอภิศักดิ์  ตันติวรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะนำข้อมูลการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ   มาประกอบการพิจารณาสวัสดิการรัฐในอนาคต ทั้งในส่วนรถเมล์ รถไฟฟรี เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราให้มากกว่าเดือนละ 600 บาท    โดยจะมีการเชื่อมระบบการจ่ายสวัสดิการภาครัฐกับอีเพย์เมนต์ เพื่อจ่ายสวัสดิการผ่านบัตรหรือใส่เข้าบัญชีผู้รับสวัสดิการโดยตรง อาทิ กรณีรถเมล์ รถไฟฟรี ถ้าคนที่มีรายได้น้อยกว่า 300 บาท อาจมีส่วนลดหรือขึ้นฟรี หากจ่ายด้วยบัตรในระบบอีเพย์เมนต์
 
         
ซึ่งรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง  ระบุว่า   ในปี 2552-2557  รัฐบาลมีโครงการเพื่อสวัสดิการและโครงการประชานิยม ประมาณ 18 โครงการวงเงินกว่า 3.88 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 15% ของงบประมาณประจำปี และถ้าดูเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับเพิ่มรายได้และลดจ่ายมีถึง 11 โครงการ  เช่น   กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนสตรี พักชำระหนี้ จำนำพืชผลทางการเกษตร ประกันรายได้เกษตรกร  มีการใช้งบถึง 1.44 แสนล้านบาท   ถ้าเน้นเฉพาะคนจนจะใช้งบประมาณเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท     ดังนั้น หากมีข้อมูลและออกแบบการช่วยเหลือคนจนที่ตรงจุด  จะทำให้ประหยัดงบประมาณถึง 8.8 หมื่นล้านบาท  ซึ่งเงินดังกล่าวสามารถนำไปลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหรือจ่ายสวัสดิการเพิ่มให้คนจนได้
        
และหากดูเฉพาะเบี้ยยังชีพคนชราพบว่า  ในปี 2557 ผู้สูงอายุรับเบี้ยยังชีพประมาณ 7.1 ล้านคน เป็นคนจนเพียง 20% ที่เหลือ 80% ไม่ใช่คนจน   ทำให้ในปีที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หากจ่ายให้เฉพาะคนจนจริงๆ จะสามารถเพิ่มเบี้ยยังชีพให้คนชราอีก โ ดยก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังเคยมีแนวคิดจะไม่จ่ายเบี้ยคนชราให้กับคนที่มีรายได้เกินกว่าเดือนละ 9 พันบาท  และมีสินทรัพย์กว่า 3 ล้านบาท คาดว่าจะประหยัดงบปีละ 1 หมื่นล้านบาท   แต่ได้รับการต่อต้าน จึงต้องนำแนวทางการลงทะเบียนและการจ่ายตรงมาใช้แทน

ด้าน นายพรชัย   ฐีระเวช  รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) บอกว่า  ที่ผ่านมามีข้อมูลว่า  มีคนชราที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ยังได้รับเบี้ยยังชีพเป็นแสนราย    ดังนั้นการลงทะเบียนจะทำให้ภาครัฐมีข้อมูลสำหรับจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือด้านสวัสดิการได้อย่างตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
 

ขณะที่มาสเตอร์โพลล์  พบว่า  แกนนำชุมชนส่วนใหญ่มีความพอใจโครงการลงทะเบียนคนจน  โดยมั่นใจจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้จริง แต่อาจเป็นดาบสองคมทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่กระตือรือร้นในการทำมาหากินเพราะมีรัฐอุ้ม   ซึ่งแกนนำชุมชนมากกว่าร้อยละ 90 (ร้อยละ 95.2) ระบุมีความพึงพอใจต่อรัฐบาลที่ได้จัดตั้งโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐนี้ขึ้นมา ขณะที่มีเพียงร้อยละ 4.8 เท่านั้นที่ระบุไม่พอใจ

และแกนนำชุมชนส่วนใหญ่ประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 78.1 เชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้จริง  ขณะที่แกนนำชุมชนที่เหลืออีกร้อยละ 21.9 ระบุไม่เชื่อมั่น โดยให้เหตุผลว่า  เพราะหลักเกณฑ์และรายละเอียดยังไม่เพียงพอ  /เคยมีโครงการลักษณะแบบนี้มาแล้วแต่ความเป็นอยู่ของประชาชนก็เหมือนเดิม/ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะทำสำเร็จ/ไม่มั่นใจในกระบวนการคัดกรองว่าเป็นคนจนหรือไม่จน นอกจากนี้บางส่วนยังระบุว่าอาจเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับประเทศเพราะถ้าประชาชนได้รับความช่วยเหลือบ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดความเคยตัว
         
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ส.ค. 2559 เวลา : 18:17:42
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 10:57 am