การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สบส.ตั้งเป้าปี 60 ปูพรมสอน 'สุขบัญญัติแห่งชาติ' ในสุขศาลาพระทานทั่วประเทศ


 


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทดสอบสมรรถนะเตียงเข็นผู้ป่วยรุ่นออฟโรดต้นแบบในพื้นที่จริงที่สุขศาลาพระราชทานบ้านปิล๊อกคี่ จ.กาญจนบุรี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพใช้ประจำการที่สุขศาลาพระราชทานทุกแห่ง เติมเต็มคุณภาพบริการผู้เจ็บป่วย ตั้งเป้าในปี2560 จะเพิ่มการสอนสุขบัญญัติแห่งชาติ ในสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ เป็นวัคซีนติดตัวนักเรียนป้องกันโรคตลอดชีวิต และให้ความรู้สุขภาพสมัยใหม่แก่ประชาชนในพื้นที่ชายแดนทุรกันดาร เป็นภาษาถิ่น ให้รู้เท่าทันภัยสุขภาพ ขณะนี้เริ่มพบโรคจากความเจริญในพื้นที่ทุรกันดารแล้ว     

         
วันนี้ (25 สิงหาคม 2559) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุขและคณะ พาสื่อมวลชนลงพื้นที่สุขศาลาพระราชทานบ้านปิล๊อกคี่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เพื่อติดตามผลการพัฒนาระบบบริการผู้เจ็บป่วย โดยในวันนี้ได้นำเตียงเข็นผู้ป่วยรุ่นออฟโรด ซึ่งเป็นนวัตกรรมอุปกรณ์การแพทย์ต้นแบบพัฒนาโดยกองวิศวกรรมการแพทย์ มาทดสอบสมรรถนะในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในในสถานที่จริงที่ไม่มีถนนเข้าถึง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพความปลอดภัยและใช้ประจำการที่สุขศาลาพระราชทานทุกแห่งในปี 2560 และยังได้มอบเครื่องสอบเทียบเครื่องวัดความดันโลหิตที่ใช้ประจำสุขศาลาฯ จำนวน 1 เครื่อง เพื่อให้ครูพยาบาลใช้ตรวจสอบค่าความเที่ยงตรงของเครื่องวัดความดันโลหิต ในการตรวจวัดสัญญาณชีพผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

          
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวว่า กรม สบส.ได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพัฒนาสุขศาลาพระราชทาน ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 17 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นสถานพยาบาลด่านหน้า ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่แนวชายแดนห่างไกลทุรกันดาร เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกับสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ โดยกรม สบส.ได้พัฒนาคุณภาพบริการทุกแห่งให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ขณะนี้ผ่านเกณฑ์แล้วกว่าร้อยละ 70 จะครบทุกแห่งภายในปี 2560  ซึ่งรวมถึงการมีเตียงเข็นผู้ป่วยที่มีมาตรฐานปลอดภัยแทนการใช้เปลผ้าหามด้วย ซึ่งกรมสบส.จะทำการทดสอบและออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่  คาดใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จากการทดสอบครั้งที่ 1 ที่สุขศาลาพระราชทานบ้านโป่งลึก จ.เพชรบุรี ผลการตอบรับดีจากครูพยาบาลและประชาชนดีมาก ได้เพิ่มจุดรองรับแรงสั่นสะเทือน และติดเสาแขวนน้ำเกลือที่เปลนอนผู้ป่วย ผลการให้บริการสุขศาลาพระราชทานทั่วประเทศ 17 แห่ง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีละเฉลี่ย 15,000 คน ในปี 2557 เป็นประมาณ 20,000 คนต่อปี สามารถลดความแออัดที่โรงพยาบาลชุมชนได้ ประหยัดค่าใช้จ่ายครัวเรือนด้วย 

สำหรับเป้าหมายพัฒนาในปี 2560 นี้ กรม สบส.จะขยายการสอนสุขบัญญัติแห่งชาติที่มี 10 ประการเพื่อปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพขั้นพื้นฐานให้เด็กและเยาวชนในสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 17 แห่งที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารทั้งหมด เปรียบเสมือนให้วัคซีนติดตัวนักเรียน (นร.) เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยทั้งโรคทางกายและใจตลอดชีวิต เริ่มตั้งแต่วัยก่อนเรียนจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และให้ผลิตสื่อให้ความรู้สุขภาพให้อสม.นำไปขยายผลสู่ชุมชน โดยแปลงให้เป็นภาษาถิ่น สื่อเข้าใจง่ายขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทุกคนมีความรู้เท่าทันปัญหาโรคภัย ซึ่งได้รับรายงานว่าขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลเริ่มป่วยเป็นโรคสมัยใหม่คือเบาหวาน ความดันโลหิตสูงคล้าย  คนเมือง ได้มอบให้กองสุขศึกษาเป็นเจ้าภาพหลัก ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพชุมชนร่วมกับครูพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่        
         
 
สำหรับสุขศาลาพระราชทานบ้านปิล๊อกคี่ เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 อยู่ระหว่างรับรองคุณภาพบริการ มีเจ้าหน้าที่ประจำ 2 คน มี อสม.น้อยในโรงเรียน 2 คน และอสม.ในหมู่บ้าน 12 คน ดูแลสุขภาพนักเรียน 248 คน และ 3 กลุ่มบ้าน รวม 403 ครัวเรือน ประชากร 1,579 คนเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ปากะยอ ส่วนใหญ่ทำอาชีพปลูกพืชไร่ รายได้เฉลี่ย 15,000 บาทต่อคนต่อปี การปฏิบัติงานในหมู่บ้านต้องเดินเท้าในรัศมี 7 กิโลเมตร ในปี 2558 มีผู้ป่วย 583 คน โรคที่พบอันดับ 1 ได้แก่โรคอุจจาระร่วง รองลงมาคือบาดแผลทั่วไป และไข้หวัด พบโรคมาลาเรีย 1 ราย มีผู้ป่วยส่งรักษาต่อปีละ 4-5 ราย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง ข้อมูลในปี 2559 นักเรียนไม่มีปัญหาขาดสารอาหาร น้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีหญิงตั้งครรภ์ 14 ราย ทุกรายฝากครรภ์และคลอดที่โรงพยาบาล

   





 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ส.ค. 2559 เวลา : 16:33:46
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:50 am