การตลาด
สกู๊ป....'คิง'กางแผนนั่งหนึ่งในผู้นำกลุ่มสินค้าจากรำข้าวโลก






 


ตลาดน้ำมันพืชถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว  ซึ่งจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจต้องหันมาแข่งขันกันในเรื่องของราคาสินค้า เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคควบคู่ไปกับกระตุ้นยอดขาย  แม้จะรู้ดีว่ากลยุทธ์การทำตลาดในรูปแบบดังกล่าวอาจทำให้เสียกลไกการแข่งขันในด้านของราคาสินค้า
นอกจากนี้  ผู้ประกอบการอีกส่วนหนึ่งก็เลือกที่จะปรับกลยุทธ์การทำตลาดด้วยการหันมาขยายไลน์สินค้าในกลุ่มที่ไม่ใช่สินค้าน้ำมันพืชมากขึ้น  เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ  และหนึ่งในผู้ประกอบการที่หันมาใช้กลยุทธ์ดังกล่าวในการทำตลาด คือบริษัท น้ำมันบริโภคไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันรำข้าวคิง  ซึ่งล่าสุดออกมาประกาศกลยุทธ์การขยายธุรกิจกลุ่มนอนออยล์ หรือกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันรำข้าว  เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ  และก้าวเข้าเป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มสินค้าที่ผลิตจากรำข้าวภายในปี 2565  เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการเข้ามาทำธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวมากนัก

นายประวิทย์ สันติวัฒนา กรรมการบริหาร บริษัท น้ำมันบริโภคไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันรำข้าวคิง  กล่าวว่า  แนวทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้บริษัทจะให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจนอนออยล์ หรือกลุ่มสินค้านอกเหนือจากน้ำมันรำข้าวมากขึ้น  เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและยังไม่มีผู้ประกอบการเข้ามาทำธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวมากนัก  ซึ่งกลุ่มสินค้านอนออยล์ที่บริษัทจะเร่งพัฒนาเข้ามาทำตลาด คือ การสร้างมูลค่าจากรำข้าว  ด้วยการพัฒนารำข้าวเป็นสินค้าประเภทต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคตลาด
 

ทั้งนี้เมื่อปี 2558  ที่ผ่านมา กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงใช้งบลงทุน 100 ล้านบาท  ในการสร้างโรงงานผลิตสินค้าจากรำข้าว  โดยเบื้องต้นวางเป้าหมายว่าจะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนอนออยล์จาก 1% เพิ่มเป็น 10% ในอีก 5 ปีข้างหน้า  ซึ่งในส่วนของสินค้าตัวแรกที่จะทำการผลิตเข้ามาทำตลาดในปี 2560 นี้ คือ แป้งรำข้าว  หลังจากนั้นจะทยอยพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น  เพื่อผลักดันให้ธุรกิจนอนออยล์เป็นส่วนหนึ่งของการก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มสินค้าจากรำข้าวของโลกในปี 2565 

ปัจจัยที่ทำให้ กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง  หันมาเสริมความแข็งแกร่งธุรกิจน้ำมันรำข้าว  ด้วยกลุ่มสินค้นนอนออยล์  คือ  ปัจจัยเริ่มมีน้ำมันรำข้าวจากอินเดียเข้ามาแข่งขันและชิงตำแหน่งผู้ผลิตอันดับ 1  ด้วยการใช้วัตถุดิบรำข้าว 5-6 แสนตัน/ปีในการผลิตสินค้าประเภทต่างๆ  ขณะที่กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงมีการใช้วัตถุดิบรำข้าวเพียง 4 แสนตัน/ปีเท่านั้น  ดังนั้น  กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง  จึงต้องขยายไลน์กลุ่มสินค้าที่ผลิตจากรำข้าวเพิ่มขึ้น  เพื่อดึงส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งกลับคืนมา  โดยเบื้องต้นขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้าประมาณ 3-4 รายการ  เข้ามาทำตลาด   

นอกจากนี้  กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง  ยังมีแผนที่จะให้ความสำคัญการขยายเข้าไปในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน  เช่น  กัมพูชา เวียดนาม และพม่า  เนื่องจากเป็นตลาดที่อยู่ใกล้กับประเทศไทย  ทำให้การขนส่งสินค้าเข้าไปทำตลาดทำได้ง่าย  เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่นๆ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาด  
 
 
อย่างไรก็ดี  เบื้องต้นกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงได้มีการวางแผนระยะ 2 ปี ว่าจะเข้าไปสร้างโรงงานผลิตสินค้าจากรำข้าวในลักษณะการร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่น  เนื่องจากขณะนี้ตลาดอาเซียนเติบโตสูง  ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง คาดว่าภายใน 5 ปี  น่าจะมีรายได้มาจากอาเซียนคิดเป็นสัดส่วน 3-5% จากปัจจุบันตลาดหลักมาจากยุโรป อเมริกาและเอเชีย โดยรายได้จากต่างประเทศยังคงมีสัดส่วน 40% และในประเทศ 60%
 
ปัจจุบันกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงมีโรงงานสกัดน้ำมันรำข้าว 2 แห่ง ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.นครราชสีมา  โดยในส่วนของโรงงานทั้ง 2 แห่ง  ในแต่ละปีจะสร้างรายได้คิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ประมาณ  4,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากน้ำมันรำข้าวสำเร็จรูปจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการทำตลาดในเมืองไทย 60% ที่เหลืออีก 40% มาจากการต่างประเทศ โดยมีตลาดหลักเป็นเกาหลีใต้ อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรป และตะวันออกกลาง   ส่วนแผนการทำตลาดน้ำมันรำข้าวคิงในประเทศ  ล่าสุดได้มีการใช้งบ 20 ล้านบาท เปิดตัวแคมเปญ “รู้จริง เลือกคิง” ดึงโอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล มาเป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อมุ่งเน้นการสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับน้ำมันรำข้าว เนื่องจากขณะนี้กระแสสุขภาพที่มาแรง ผู้บริโภคมองหาน้ำมันพืชที่ตอบโจทย์สุขภาพจึงมองว่าเป็นโอกาส 

นายประวิทย์  กล่าวว่า  ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความตื่นตัวในเรื่องการดูแลสุขภาพ ทำให้ตลาดน้ำมันพืชกลุ่มพรีเมี่ยมหรือน้ำมันประกอบอาหารในระดับราคาลิตรละ 100 บาทขึ้นไป มีอัตราการเติบโตและการแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดีย เป็นหนึ่งในช่องทางที่ถูกใช้ในการสื่อสารกล่าวอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งบางเรื่องก็กล่าวอ้างเกินจริงหรือเลื่อนลอย เพราะไม่มีข้อมูลหรืองานวิจัยมาสนับสนุนการกล่าวอ้างนั้นๆ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนและเข้าใจผิด ที่หนักสุดก็จะเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงจนทำให้ผู้บริโภคเกิดการตื่นตระหนก  เช่นกรณีที่มีการบิดเบือนว่าน้ำมันพืชผ่านกรรมวิธีเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยเชื่อมโยงเข้ากับอันตรายจากกรดไขมันทรานส์ ซึ่งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดและอาจนำไปสู่การเลือกบริโภคอย่างผิดๆ ที่อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ดังนั้น ในฐานะที่กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง  เป็นผู้บุกเบิกและดำเนินธุรกิจน้ำมันรำข้าวมานานหลายสิบปี   ล่าสุดได้มีการนำเสนอสินค้าใหม่ให้กับผู้บริโภค  ควบคู่ไปกับการสื่อสารทางการตลาด  เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงคุณค่าของน้ำมันรำข้าวคิง ชนิดโอรีซานอล 6,000 พีพีเอ็ม (King Rice Bran Oil–Oryzanol 6,000 ppm)  ขณะเดียวกันก็ได้มีการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเลือกพิจารณาแต่ข้อมูลที่พิสูจน์ได้จริง สามารถตรวจสอบด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ และได้รับการยืนยันจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ
 
ประวิทย์ กล่าวต่อว่า  บริษัทมั่นใจว่าเราเป็นตัวจริงในเรื่องน้ำมันรำข้าว เพราะบริษัททำน้ำมันรำข้าวอย่างเดียวมาตลอดหลายสิบปี มีโรงงานที่ใช้ระบบการผลิตที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  มีห้องแล็ประดับมาตรฐานสากลที่เพียบพร้อมด้วยเครื่องมือวิเคราะห์วิจัยทางวิทยาศาสตร์อันทันสมัย  จึงทำให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพของน้ำมันรำข้าวคิงให้ตรงตามที่บริษัทมั่นใจ
 
หลังจากเดินหน้าขยายธุรกิจและออกมาทำกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง  กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงมั่นใจว่าในอีก 5 ปีนับจากนี้น่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ  8,500 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากปี 2558  ที่มีรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท  ส่วนปีนี้คาดการณ์ว่ารายได้จะไม่เติบโต เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคลดการทำอาหารกินภายในบ้าน แต่หลังจากเริ่มออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายมากขึ้นคาดว่ารายได้ในปี 2560  น่าจะกลับมาเติบโตได้ที่ประมาณ 7% เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มบริโภคน้ำมันระดับพรีเมียมมากขึ้น

สำหรับภาพรวมตลาดน้ำมันพืชบรรจุขวดในปี 2558  ที่ผ่านมามีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ  15,000ล้านบาท เติบโตประมาณ  1-2%  เท่านั้น  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยในส่วนของน้ำมันปาล์มปัจจุบันยังคงมีสัดส่วนยอดขายหลักอยู่ที่ประมาณ  65%  เนื่องจากเริ่มมีหลายแบรนด์เข้ามาทำตลาดมากขึ้น  และใช้กลยุทธ์ราคาเข้ามาช่วยในการขยายฐานลูกค้า  ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 25% เป็นกลุ่มสินค้าพรีเมียม  ขณะที่น้ำมันรำข้าวปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 7%  ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มสินค้าน้ำมันประเภทอื่นๆ  

แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนของตลาดน้ำมันรำข้าวจะน้อยกว่าน้ำมันปาล์ม  และน้ำมันถั่วเหลือง  แต่หลังจากกลุ่มคนเมืองเริ่มใช้สินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันพรีเมียมรำข้าว และน้ำมันนำเข้า  คาดการณ์กันว่าในอนาคตอันใกล้สัดส่วนตลาดน้ำมันรำข้าวต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน




 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.ย. 2559 เวลา : 10:59:39
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 10:56 am