เอสเอ็มอี
สสว. จับมือ 18 หน่วยงานภาครัฐขับเคลื่อน SME ปี 60 วงเงิน 3,487.34 ลบ.เน้นสร้างSMEรายใหม่


 


สสว. จับมือ 18 หน่วยงานภาครัฐขานรับนโยบายรัฐบาล เดินหน้าแผนบูรณาการขับเคลื่อน SME ปี 60 เน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่ไปกับมาตรการทางการเงินและภาษี การส่งเสริมจะไปเป็นในทิศทางเดียวกันและต่อเนื่อง 

สสว. ร่วมกับ 18 หน่วยงานภาครัฐ เดินหน้าแผนบูรณาการขับเคลื่อน SME ปี 2560 วงเงิน 3,487.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,526.40 ล้านบาทในปี 2559 มุ่งสร้าง SME รายใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และ SME เกษตร พัฒนา SME ที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วให้เติบโตได้เต็มศักยภาพจนสามารถเข้าสู่ระดับสากล ในส่วน SME ที่ประสบปัญหาก็เร่งฟื้นฟูกิจการ หวังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 45,000 ล้านบาท รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอกชนทำธุรกิจได้สะดวกขึ้น (Ease of Doing Business) ควบคู่กันไปกับมาตรการด้านการเงิน เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการด้านภาษี อีกกว่า 450,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของ SME ในทุกช่วงวงจรธุรกิจ

จากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานและบูรณาการงานส่งเสริม SME ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การส่งเสริม SME เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศตามเป้าหมายที่กำหนด โดยปี 2560 นับเป็นปีที่ 2 ของการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการด้านการส่งเสริม SME ของประเทศ

 
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในปี 2560 สสว. ได้ร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจรวม 17 หน่วยงาน 1 รัฐวิสาหกิจ จัดทำแผนงานบูรณาการด้านการส่งเสริม SME วงเงิน 3,487.34 ล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นแผนงานในการขับเคลื่อน SME ปี 2560 ที่มุ่งเน้นการส่งเสริม SME ตามระดับการเติบโตของธุรกิจ (Business Life Cycle) ด้วยการสนับสนุนผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในภาคเกษตร ภาคการผลิตและบริการ ให้สามารถพัฒนาแนวคิดไปสู่ธุรกิจได้จริง ผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชนและ OTOP  ที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้วได้รับการพัฒนายกระดับมาตรฐานสินค้าและช่องทางการจัดจำหน่ายให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น โดยเน้นว่าการส่งเสริมพัฒนาจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นไปอย่างต่อเนื่องกันทุกปี การพัฒนาส่งเสริม SME แบบบูรณาการประกอบด้วย 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 
 

แนวทางที่ 1 สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมแบบครบวงจร (Start Up) และสร้าง SME เกษตร จากวิสาหกิจชุมชนและ Smart Farmer โดยให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพื้นฐานในการประกอบธุรกิจ การสร้างผู้ประกอบการใหม่ในสาขาที่มูลค่าเพิ่มสูง การเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่ในการเป็นผู้ประกอบการโดยใช้ผลงานวิจัยและ


ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านระบบการบ่มเพาะและอบรมเชิงลึก จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนสนับสนุนเงินทุนและการตลาด ได้รับอนุมัติวงเงินรวม 1,673 ล้านบาท และคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการประมาณ 41,100 ราย 
 
แนวทางที่ 2 ส่งเสริมให้ SME กลุ่มทั่วไป (Regular) มีศักยภาพและผลิตภาพมากขึ้น และให้ความช่วยเหลือ SME ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ เชื่อมโยงกับมาตรการทางการเงินของกระทรวงการคลังเพื่อฟื้นฟูกิจการ มุ่งพัฒนาศักยภาพ SME ในสาขาเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป ฮาลาล ชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ โดยปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการประกอบธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาการรวมกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปในรูปแบบคลัสเตอร์ รวมถึงการขยายโอกาสทางการตลาดโดยเฉพาะช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ฯลฯ ได้รับจัดสรรวงเงิน 1,130 ล้านบาท คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการประมาณ 106,000 ราย 
 
 
แนวทางที่ 3 ส่งเสริม SME ที่มีศักยภาพ (Strong) ให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น สามารถส่งออกสินค้าและบริการสู่ตลาดโลกได้ โดยให้ความสำคัญกับการสร้าง Brand การยกระดับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน สินค้าและบริการ การสร้างเครือข่ายกับธุรกิจขนาดใหญ่ในโครงการประชารัฐแบบพี่ช่วยน้อง ฯลฯ ได้รับจัดสรรวงเงิน 355 ล้านบาท ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์ 4,000 ราย 
แนวทางที่ 4 พัฒนาระบบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนและการส่งเสริม SME (Ecosystem) มุ่งเน้นปรับปรุงการบริหารจัดการงานส่งเสริม SME ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสร้างต้นแบบการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สร้างนักบัญชีคุณภาพ ขยายศูนย์บริการข้อมูล SME (One-stop Service Center: OSS) ฯลฯ ได้รับจัดสรรวงเงิน 328 ล้านบาท ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์ประมาณ 26,000 ราย 

สำหรับปี 2560 งบบูรณาการ SME ได้รับการอนุมัติเพิ่มขึ้นเป็น 3,487 ล้านบาท มุ่งหวังให้ SME ได้รับการยกระดับเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และคาดว่าจะสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการได้ไม่น้อยกว่า 177,100 ราย เป็นผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจประมาณ 45,000  ล้านบาท โดย สสว. มีหน้าที่ติดตามประเมินผลโครงการ ตามงบบูรณาการเพื่อนำเสนอ ครม. ควบคู่กันไปกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังให้ความสำคัญ ด้วยการออกมาตรการทางการเงินและภาษี ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รวมวงเงินในการให้ความช่วยเหลือกว่า 435,000 ล้านบาท เช่น สินเชื่อเพื่อรายย่อย สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SME และล่าสุดที่กำลังจะเริ่มดำเนินการคือ กองทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการ SME วงเงิน 2,000 ล้านบาท และกองทุนพลิกฟื้น SME วงเงิน 1,000 ล้านบาท รวมถึงมาตรการด้านภาษีสำหรับ SME ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านมาตรการทางการเงิน ไม่น้อยกว่า 48,000 ราย

ปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกของการจัดทำงบประมาณลักษณะบูรณาการด้านการส่งเสริม SMEs มีหน่วยงานร่วมดำเนินการ 15 หน่วยงาน วงเงิน 1,526.40 ล้านบาท มีผลการดำเนินงานโดยสามารถสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 17,134 ราย เพิ่มผลิตภาพของ SME จำนวน 30,539 ราย เพิ่มมูลค่าการส่งออกของ SME จำนวน 1,702 ราย ทั้งนี้ คิดเป็นจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์ รวม 49,375 ราย 









 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ย. 2559 เวลา : 16:45:18
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:42 pm