เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
อุปกรณ์การแพทย์ ดาวรุ่งดวงใหม่ยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกไทยก้าวทันโลก : EIC


 


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี ออกบทวิเคราะห์ " อุปกรณ์การแพทย์ ดาวรุ่งดวงใหม่ยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกไทยก้าวทันโลก
 
 
 Highlight แนวโน้มของการผลิตอุปกรณ์การแพทย์มีการเปลี่ยนไปใช้พลาสติกแทนโลหะ เซรามิค และแก้วมากขึ้น เนื่องจากข้อได้เปรียบทั้งในด้านต้นทุน ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยที่ดีกว่าวัสดุหลักเดิม นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งไทย มีส่วนทำให้ความต้องการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวนี้สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การใช้พลาสติกมีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่อุปกรณ์การแพทย์ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พลาสติกอย่างมาก และยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันน้อย จึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยได้

เทคโนโลยี และมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสูง เป็นความท้าทายสำคัญต่อการขยายตัวของธุรกิจนี้ โดยอีไอซีมองว่าไทยมีศักยภาพและความพร้อมในธุรกิจพลาสติกและธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพเป็นต้นทุนอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรหาพันธมิตรต่างชาติที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อร่วมวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์และศึกษามาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ของไทยก้าวผ่านอุปสรรคด้านเทคโนโลยี และกลายเป็นผู้เล่นหลักทั้งการผลิตและส่งออกได้ในอนาคต  


การผลิตอุปกรณ์การแพทย์มีแนวโน้มเปลี่ยนไปใช้พลาสติกเป็นวัสดุการผลิตมากขึ้น เนื่องจากพลาสติกมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง และมีต้นทุนต่ำกว่าวัสดุหลักอื่นๆ นักวิเคราะห์ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับแนวโน้มการใช้พลาสติกในอุปกรณ์การแพทย์ที่สูงขึ้น โดยมองว่าการใช้พลาสติกในธุรกิจนี้มีแนวโน้มเติบโตราว 7% ส่วนวัสดุอื่นๆ เช่น โลหะ เซรามิค และแก้ว มีแนวโน้มเติบโตเพียง 1-2% เท่านั้น โดยปัจจุบัน พลาสติกมีข้อได้เปรียบวัสดุหลักอื่นๆ ดังนี้ คือ 1) ต้นทุนวัตถุดิบและการผลิตที่ต่ำกว่า เนื่องจากราคาวัสดุพลาสติกที่ต่ำ และสามารถขึ้นรูปได้ง่ายกว่าโลหะ เซรามิคและแก้ว 2) มีประสิทธิภาพที่สูงกว่า เพราะสามารถปรับรูปร่างให้ตรงกับความต้องการและมีน้ำหนักเบากว่าโลหะและเซรามิค ขณะที่ก็มีคุณสมบัติคงทนและโปร่งใสเหมือนกับแก้ว และ 3) มีความปลอดภัยสูงกว่า เพราะทนต่อสารเคมีและกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยรังสีทำให้ไม่เกิดสารปนเปื้อนจากการกัดกร่อนเหมือนโลหะ และยังมีโอกาสที่จะแตกหักน้อยกว่าเซรามิคหรือแก้ว ยิ่งไปกว่านั้น พลาสติกยังสามารถนำไปผสมกับวัสดุอื่นๆ เช่น ยาง หรือ สารเคมีชีวภาพต่างๆ กลายเป็นวัสดุเชิงประกอบ (composite) ทำให้ได้วัสดุที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีคุณสมบัติตรงกับความต้องการได้อีกด้วย 

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ของประเทศชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก ยิ่งกระตุ้นให้ความต้องการใช้อุปกรณ์การแพทย์สูงขึ้น ส่งผลให้การใช้พลาสติกมีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐฯ ยุโรป จีนและญี่ปุ่น เป็นต้น คาดว่าภายในปี 2030 สัดส่วนของประชากรช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไปทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12% จาก 8% ในปัจจุบัน จากปัจจัยนี้เองมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์เติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ จะยิ่งสนับสนุนให้การใช้พลาสติกเพื่อผลิตอุปกรณ์การแพทย์เหล่านี้มีแนวโน้มเติบโตสูงตามไปด้วย 

ในมุมมองของผู้ประกอบการ อุปกรณ์การแพทย์ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกได้สูงกว่าการส่งออกเม็ดพลาสติก หรือการแปรรูปขั้นต้น และยังช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน ในปัจจุบัน แม้ว่าสัดส่วนปริมาณการใช้พลาสติกในอุปกรณ์การแพทย์จะยังมีน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ อย่างอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ รถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พลาสติกได้สูงกว่าหลายเท่า โดยมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์การแพทย์จะสูงกว่ามูลค่าการส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติก และเม็ดพลาสติกโดยเฉลี่ยราว 4 และ 8 เท่า ตามลำดับ โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่สูงจะช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้และกำไรของผู้ประกอบการ และยังช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจากราคาอุปกรณ์การแพทย์ไม่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันมากนัก ซึ่งต่างจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเม็ดพลาสติก นอกจากนี้ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกยังสอดคล้องกับแผนการยกระดับอุตสาหกรรมของภาครัฐที่ต้องการเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งและช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต 

หากมองโอกาสการเติบโตของธุรกิจนี้ในประเทศ อีไอซีมองว่าไทยมีข้อได้เปรียบ เนื่องจากมีความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมพลาสติกตลอดห่วงโซ่อุปทาน และยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ภายในประเทศที่สูง ไทยมีความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและส่งออกพลาสติกหลักของภูมิภาค และมีความพร้อมของผู้ประกอบการธุรกิจพลาสติกแปรรูปกว่า 3,000 รายทั่วประเทศ นอกจากนี้ ไทยก็มีศักยภาพในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถรองรับความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกันความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ของไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงราว 10% ต่อปี จากแนวโน้มของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในปี 2030 สัดส่วนประชากรสูงอายุไทย (อายุ 65 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 18% จาก 10% ในปัจจุบัน อีกทั้ง การที่ไทยเป็นศูนย์กลางของธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพในอาเซียน โดยมีความได้เปรียบทั้งในแง่คุณภาพและมาตรฐานการรักษา ส่งผลให้มีผู้ป่วยต่างชาติเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องราว 9% นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐยังช่วยสนับสนุนด้านสิทธิพิเศษการลงทุนให้กับธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-7 ปี รวมถึงมีงบวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม และตั้งเป้าหมายให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย (Medical Hub) ภายในปี 2020 ซึ่งจะยิ่งสนับสนุนให้ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ในไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง   

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของการลงทุนและยกระดับธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ในไทยคือการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการได้รับการรองรับด้านมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง ปัจจุบันการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ของไทยยังเป็นการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีระดับต่ำถึงกลางเป็นหลัก ซึ่งมีมูลค่าไม่สูงมากนัก เช่น ถุงมือแพทย์ เข็มฉีดยา และสายน้ำเกลือ เป็นต้น ขณะที่อุปกรณ์การแพทย์ระดับสูง เช่น อวัยวะเทียม เครื่องเอ็กซเรย์ และเครื่องสแกน ที่ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตและมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง ไทยยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเยอรมนี เป็นต้น 

โดยในปี 2015 มูลค่าการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ของไทยสูงถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ราว 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี พร้อมทั้งร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรฐานต่างๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ของไทย ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงเหล่านี้ พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสในการเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหม่ของอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ได้ในอนาคต  

Implication
ภาครัฐและภาคเอกชนควรส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงประสิทธิภาพและมาตรฐานของอุปกรณ์การแพทย์ที่ผลิตจากพลาสติกอย่างต่อเนื่อง อีไอซีมองว่าธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยได้อย่างมาก หากภาครัฐและภาคเอกชนช่วยผลักดันและส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเอกชนควรเร่งหาพันธมิตรระดับโลกที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี พร้อมทั้งร่วมวิจัยและพัฒนาศึกษามาตรฐานต่างๆ ก็จะช่วยยกระดับทั้งอุตสาหกรรมพลาสติกและอุปกรณ์การแพทย์ของไทยให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรองรับกับความต้องการของผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศได้ 
ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมผู้สูงอายุในแต่ละภูมิภาค รวมถึงแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ  เพื่อมุ่งขยายตลาดให้ตรงตามความต้องการ แนวโน้มสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศชั้นนำของโลก เช่น สหรัฐฯ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลางถึงสูงเติบโตขึ้น ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของประเทศกำลังพัฒนา เช่น เมียนมา เวียดนาม และลาว ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่าไม่สูงมากนักเติบโตด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งศึกษาแผนการลงทุน และวางเป้าหมายขยายช่องทางการตลาดให้เหมาะสมกับความต้องการผลิตภัณฑ์ในแต่ละประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายธุรกิจรองรับกับแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต 



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.ย. 2559 เวลา : 16:06:17
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 8:05 am