เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รับมือปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปีหน้า


 


แม้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะปรับเป็นอย่างไร   เท่ากันทั่วประเทศหรือไม่  หรือปรับตามพื้นที่   แต่มีสัญญาณที่ค่อนข้างแน่ชัดว่า  ผู้ใช้แรงงานจะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างแน่นอน

ซึ่งสาเหตุที่ยังไม่มีข้อสรุป  เนื่องจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)  เห็นว่ามติมติคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง)   ที่ให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 ใน 69 จังหวัดทั่วประเทศ   โดยปรับเป็นอัตรา 305 บาทต่อวันใน 49 จังหวัด และ 308 บาทต่อวันใน 13 จังหวัด และ 310 บาทต่อวันใน 7 จังหวัด และไม่ปรับขึ้นอีก 8 จังหวัด  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 นั้น เป็นมติที่ไม่เหมาะสม   เพราะควรปรับขึ้นให้เท่ากันทั่วประเทศ  และเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี  เพื่อขอให้ทบทวนมติดังกล่าว

ขณะที่ม.ล.ปุณฑริก   สมิติ   ปลัดกระทรวงแรงงาน  ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า   บอร์ดค่าจ้างได้พิจารณาบนฐานข้อมูลข้อเท็จจริง   ทั้งจากพื้นที่ของจังหวัด และได้คิดตามสูตรที่กำหนด เป็นตัวเลขตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญได้พิจารณาร่วมกันระหว่างไตรภาคี คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ประกอบกับเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง   ทั้งผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย   สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 
ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจถึง 10 รายการ ได้แก่ 1.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับปัจจุบัน 2.ดัชนีค่าครองชีพ 3.อัตราค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อตั้งแต่ปี 2558-2559 4.มาตรฐานค่าเฉลี่ยการครองชีพ 5.ต้นทุนการผลิต 6.ราคาสินค้าและบริการ 7.ความสามารถของธุรกิจ 8.ผลิตภาพแรงงาน 9.ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ตั้งแต่ปี 2553-2557 และ 10.สภาพเศรษฐกิจและสังคม

ด้านเสียงสะท้อนของภาคเอกชน นายวัลลภ   วิตนากร    รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงบอร์ดค่าจ้างที่มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ในอัตรา 5-10 บาท 69 จังหวัด ว่า   นับเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการค่าจ้าง    ได้เพิ่มหลักเกณฑ์การพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง   เพื่อให้มีความละเอียดรอบคอบและใกล้กับความเป็นจริงมากขึ้น   จากเดิมที่พิจารณาเฉพาะ  เรื่องค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ และความสามารถของนายจ้าง   แต่ครั้งนี้ได้เพิ่มในหลายประเด็น     รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ และประสิทธิภาพของแรงงาน เป็นต้น
 
 

ซึ่งเห็นว่าการปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ที่ไม่เท่ากันทุกพื้นที่นั้น  มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน    และไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบการ  ทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้โดยไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า

         

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ต.ค. 2559 เวลา : 07:19:05
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:53 pm