การตลาด
สกู๊ป....ศูนย์การค้าไทยจี้รัฐอุ้มธุรกิจเรียกลูกค้านักท่องเที่ยว




 


จากการธุรกิจศูนย์การค้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันศูนย์การค้าในประเทศไทยมีพื้นที่ค้าปลีกโดยรวม หรือRetail GFA  รวมทั้งหมดกว่า 18 ล้านตร.ม. โดยมีพื้นที่ Retail GFA ของศูนย์การค้าในกลุ่มสมาชิกสมาคมศูนย์การค้าไทยรวมกันกว่า 7.6 ล้านตร.ม. จาก  91 ศูนย์การค้า หรือคิดเป็น 42% ของพื้นที่ Retail GFA ของศูนย์การค้าในประเทศไทยทั้งหมด  ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากแต่ละผู้ประกอบการในธุรกิจศูนย์การค้ามีการขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับในปี 2560 ที่กำลังจะมาถึงนี้ สมาคมศูนย์การค้าไทยคาดการณ์ว่าในประเทศไทยจะมีพื้นที่ Retail GFA เพิ่มขึ้นเป็น 18.7 ล้านตร.ม. โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นพื้นที่ศูนย์การค้าของสมาชิกสมาคมศูนย์การค้าประมาณ 8 ล้าน ตรม. เนื่องจากผู้ประกอบการสมาชิกในสมาคมมีการใช้งบลงทุนขยายศูนย์การค้าระหว่างปี 2559-2560 อย่างต่อเนื่อง  หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกันกว่า 70,000  ล้านบาท

 
ปัจจุบันสมาคมศูนย์การค้าไทยมีสมาชิกที่ประกอบธุรกิจศูนย์การค้าด้วยกัน 10 ราย ประกอบด้วย บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) บริษัท  เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด  บริษัท สยาม รีเทล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด  บริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)  บริษัท เค.อี.แลนด์ จำกัด  บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)  บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด บริษัท สยามพิวรรธน์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ล่าสุดมีสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่ม 2 ราย คือ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด และบริษัท แปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา จำกัด
 

น.ส.วัลยา จิราธิวัฒน์ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย กล่าวว่า  แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่สมาชิกผู้ประกอบการศูนย์การค้าก็ยังร่วมกันทุ่มเม็ดเงินลงทุนพัฒนาทั้งโครงการใหม่ระดับเมกะโปรเจ็กต์ ไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งมอลล์ และรีโนเวชั่นศูนย์การค้ากันอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  ซึ่งในส่วนของตลาดต่างจังหวัดถือเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักอย่าง ภูเก็ต พัทยา จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ  เนื่องจากจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยต่างชาติเข้าไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้  หัวเมืองที่กำลังจะมีบทบาทสำคัญในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทท่ำคัญเช่นกันไม่ว่าจะเป็นระยอง นครศรีธรรมราช  นครราชสีมา หรือขอนแก่น  เนื่องจากจังหวัดดังกล่าวจะมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ดี  เนื่องจากจะมีการแลกเปลี่ยนในด้านของการค้า  จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมาจะเห็นผู้ประกอบการศูนย์การค้าเข้าไปเปิดศูนย์การค้าในจังหวัดดังกล่าวมากขึ้น  

ในส่วนของรูปแบบของศูนย์การค้าที่เปิดให้บริการในปัจจุบันก็ค่อนข้างมีความหลากหลาย เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมีความแตกต่างกันไป ดังนั้น การทำธุรกิจศูนย์การค้าจึงต้องมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ คอมมูนิตี้มอลล์ รีจินอลมอลล์  หรือซูเปอร์ริจินอลมอลล์

 
ความหลากหลายของธุรกิจศูนย์การค้าที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยค่อนข้างมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางในด้านศูนย์การค้าของภูมิภาคอาเซียน แต่เนื่องจากยังมีการติดขัดในด้านของราคาสินค้าลักซ์ชัวรี่ที่ค่อนข้างแพงเมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์และฮ่องกง จึงทำให้ประเทศไทยยังไม่เป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งของภูมิภาคอาเซียนได้ ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวทางสมาคมศูนย์การค้า จึงจะเร่งหารือกับภาครัฐ เพื่อผลักดันการปรับโครงสร้างภาษีสินค้านำเข้าในกลุ่มลักซ์ชัวรี่ให้ปรับลดลง จากปัจจุบันมีการจัดเก็บเฉลี่ยที่ประมาณ 30-70%

น.ส.วัลยา กล่าวต่อว่า ภารกิจสำคัญของสมาคมฯในขณะนี้ คือ การผลักดันนโยบายลดภาษีสินค้าแบรนด์เนม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยล่าสุด ทางสมาคมฯ ได้มีการเข้าพบหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือและผลักดันให้เกิดนโยบายนี้ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า และเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกงได้  เพราะการปรับลดกำแพงภาษีสินค้าแบรนด์เนมสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วโลกให้เข้ามาในประเทศไทยได้ เนื่องจากราคาสินค้าแบรนด์เนมจะมีการปรับราคาลดลงใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งที่ปรับลดกำแพงภาษีสินค้าแบรนด์เนมไปแล้ว

ทั้งนี้  ปัจจัยที่ทำให้สมาคมพยายามผลักดันการปรับลดอัตราภาษีนำเข้ากลุ่มสินค้าลักซ์ชัวรี่ก็เพราะว่า  ปัจจัยดังกล่าวจะนำพาให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นที่หนึ่งในอาเซียน และเป็นเดสติเนชั่นด้านช้อปปิ้งและไลฟ์สไตล์ที่ดีที่สุดในภูมิภาคเทียบชั้นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างฮ่องกง และสิงคโปร์ได้
 

อย่างไรก็ดี  เบื้องต้นสมาคมศูนย์การค้าไทยได้มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจของกลุ่มสมาชิกผู้ประกอบการศูนย์การค้าไทย ในระยะ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2559 - 2561 ให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลไว้เรียบร้อยแล้ว  ด้วยการโฟกัสกลุ่มเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ  ซึ่งปัจจุบันถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อรายได้ของประเทศ  เนื่องจากแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว ปี 2558 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเกือบ 30 ล้านคน เพิ่มขึ้น  20.44% จากปี 2557 สามารถทำรายได้ให้กับประเทศไทยได้มากถึง 2.33 ล้านล้านบาท 

ปัจจุบันธุรกิจด้านการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นอันดับ 3 หรือคิดเป็น 12% ของจีดีพีประเทศ  และหากนำรายได้ดังกล่าวมารวมกับธุรกิจค้าปลีก ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นอันดับ 2 รองจากภาคอุตสาหกรรม  หรือคิดเป็น 16% ของจีดีพีประเทศถือว่าเป็นรายได้ที่มีมูลค่ามหาศาลอย่างมาก  ดังนั้นจึงอยากจะให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม  เพราะนอกจากจะดึงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาช้อปปิ้งในประเทศไทยได้แล้ว ยังจะสามารถช่วยดึงให้คนไทยที่หันไปเที่ยวและช็อปปิ้งในต่างประเทศหกลับมาช้อปปิ้งในประเทศไทย เพื่อดึงเม็ดเงินที่ไทยนำไปเที่ยวต่างประเทศปีละ  1.7 แสนล้านบาท กลับเข้ามาในประเทศไทย  โดยเฉพาะเม็ดเงินที่ใช้ไปกับการช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมที่เสียไปต่อปีประมาณ 51,000 ล้านบาท

น.ส.วัลยา กล่าวปิดท้ายว่า  แนวทางการปรับลดภาษีสินค้าแบรนด์เนมดังกล่าวนอกจากจะช่วยกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจค้าปลีกให้มีความคึกคักมากขึ้นแล้ว  ยังถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น จะทำให้ต่างชาติรู้จักสินค้าไทยและซื้อสินค้าของคนไทยมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทย


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 พ.ย. 2559 เวลา : 09:04:36
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:09 pm