การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
มธ.จัดพิธีบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศลแด่พ่อหลวง รัชกาลที่ 9ในวาระเสด็จสวรรคตครบ 39 วัน


 


มธ. เปิดประวัติศาสตร์ 'หอประชุมใหญ่'หอประชุมที่เปี่ยมล้นด้วยความทรงจำ และเชื่อมโยงความผูกพันระหว่างพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 และประชาคมธรรมศาสตร์ เป็นเวลาถึง 48 ปี
 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิธีบำเพ็ญกุศล อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสครบ 39 วันแห่งการเสด็จสวรรคต โดยภายในงานประกอบด้วย การแสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง “ราชธรรม ธรรมะของพระราชา” โดยพระครูปลัดวิริยวัฒน์ (อ.อารยวังโส) และพิธีสวดพระพุทธมนต์ สดับปกรณ์ นำโดยพระธรรมปาโมกข์ เจ้าอาวาสวัดราชผาติการามวรวิหาร องค์ประธานสงฆ์ พร้อมคณะสงฆ์จากวัดราชผาติการามวรวิหาร กรุงเทพฯ และวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย จ.ลำพูน  ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานที่แห่งความทรงจำของชาวธรรมศาสตร์และประชาชน สถานที่ซึ่งใช้จัดกิจกรรมหรืองานพิธีการสำคัญต่าง ๆ ทั้งการรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตธรรมศาสตร์ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2493 และการเสด็จฯ มาทรงดนตรีในบทเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง เป็นต้น
 
 


ทั้งนี้ พิธีบำเพ็ญกุศลดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์  02-564-4440 ต่อ 1118  (ศูนย์รังสิต) หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th

 
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เป็นหนึ่งในหน่วยงานส่วนกลางที่จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  และเนื่องในโอกาสครบ 39 วันแห่งการเสด็จสวรรคต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ร่วมกับ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิธีบำเพ็ญกุศล ขึ้น เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ณ บริเวณหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้

·      พิธีตักบาตรพระสงฆ์ 89 รูป

·      การแสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง “ราชธรรม ธรรมะของพระราชา” โดยพระครูปลัดวิริยวัฒน์ (อ.อารยวังโส)

·      พิธีสวดพระพุทธมนต์ สดับปกรณ์ นำโดยพระธรรมปาโมกข์ เจ้าอาวาสวัดราชผาติการามวรวิหาร องค์ประธานสงฆ์ พร้อมคณะสงฆ์จากวัดราชผาติการามวรวิหาร กรุงเทพฯ และวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย จ.ลำพูน  

·      พิธีเจริญจิตภาวนา ถวายเป็นพระราชกุศลเป็นเวลา 9 นาที นำโดยพระธรรมปาโมกข์ องค์ประธานสงฆ์

·      กล่าวสัมโมทนียกธรรม โดยพระธรรมปาโมกข์ องค์ประธานสงฆ์
 
 

ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี แห่งการครองราชย์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัยนานัปการ ทั้งในด้านวิชาการและการศึกษา อาทิ การเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตธรรมศาสตร์อย่างต่อเนื่องถึง 48 ปี ทรงพระราชทานทุนภูมิพล สำหรับนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม และทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาที่มีความเป็นเลิศในแขนงต่าง ๆ ได้เดินทางไปศึกษาต่อในขั้นสูงยังต่างประเทศ อีกทั้งยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้บัณฑิตอาสาสมัครเข้าเฝ้าฯ ก่อนออกไปปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม เพื่อพระราชทานขวัญกำลังใจแก่บัณฑิต พร้อมทั้งทรงกำชับถึงความจำเป็นที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันพัฒนาชนบทให้ควบคู่กับการพัฒนาเมือง อีกทั้งยังทรงเสด็จฯ มามหาวิทยาลัยเป็นการส่วนพระองค์ถึง 12 ครั้ง โดยครั้งสำคัญ ที่ประทับ แน่นในดวงใจชาวธรรมศาสตร์ คือ เมื่อครั้งเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อทรงดนตรีและโปรดเกล้าฯ ให้นักศึกษาได้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ในวาระครบรอบ 50 ปี และ 60 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระองค์ได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. เพื่อประดิษฐาน ณ ฐานพระพุทธรูป และพระราชทานนามพระประจำมหาวิทยาลัย และเสด็จทรงเททองหล่อพระพุทธธรรมทิฐิศาสดา เป็นต้น
 
 

ทั้งนี้ หนึ่งในสถานที่แห่งความทรงจำของชาวธรรมศาสตร์และประชาชน คือ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ “หอประชุมใหญ่” โดยได้จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2497 ในวาระครบรอบ 20 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ด้วยมุ่งหมายให้เป็นหอประชุมที่ทันสมัย และสามารถบรรจุคนได้ถึง 2,500 ที่นั่ง โดยที่ผ่านมาหอประชุมใหญ่ได้ถูกนำไปใช้ในวาระและโอกาสอันสำคัญต่าง ๆ เพื่อรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งการเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตธรรมศาสตร์ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2493 การเสด็จฯ มาทรงดนตรีในบทเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ที่ทรงพระราชทานให้เป็นเพลงประจำสถาบัน แก่นักศึกษาที่เข้าเฝ้าฯ เป็นครั้งแรก อีกทั้งพระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณทรงปลูกต้นหางนกยูง (หรือ “ต้นยูงทอง”) บริเวณหอประชุม จำนวน 5 ต้น ตามจำนวนคณะที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น ในปี พ.ศ.2506 ฯลฯ ซึ่งสถานที่ดังกล่าวนับเป็นสถานที่สำคัญที่บันทึกห้วงเวลาแห่งความทรงจำอันทรงคุณค่ายิ่งและสุดจะหาสิ่งใดเปรียบได้ ที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ในขณะนั้นมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์อย่างใกล้ชิด นำมาซึ่งความซาบซึ้งอันหาที่สุดมิได้ อีกทั้งจะคงประทับแน่นอยู่ในดวงใจของชาวธรรมศาสตร์ตราบนานเท่านาน   ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด กล่าว
 
 
 
 

สำหรับพิธีบำเพ็ญกุศลดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีคณะผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปร่วมงานจำนวนมาก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์  02-564-4440 ต่อ 1118  (ศูนย์รังสิต) หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 พ.ย. 2559 เวลา : 18:47:40
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:43 pm