การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรม สบส. ห่วงประชาชนป่วย "โรคที่มากับน้ำท่วม" แนะป้องกันได้แค่ช่วยกันรักษาความสะอาดน้ำ


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม อย่าทิ้งขยะมูลฝอยหรือขับถ่ายลงน้ำ เพราะจะทำให้น้ำเน่าเสียเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค เผยขณะนี้เริ่มพบผู้ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงในพื้นที่น้ำท่วม จำนวน 8 ราย และตาแดง จำนวน 1 ราย เร่งให้ อสม.ในพื้นที่ลงให้ความรู้ประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยซ้ำเติม

         

นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ล่าสุดจากรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังมีอีก 8 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ชุมพร, ตรัง, สงขลา, พัทลุง, ปัตตานี และประจวบคีรีขันธ์  ซึ่งจากการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช  เริ่มพบโรคที่มากับน้ำท่วม คือ โรคอุจจาระร่วง จำนวน 8 ราย และโรคตาแดง จำนวน 1 ราย  ซึ่งมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหาร หรือใช้น้ำที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคปนเปื้อน ซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้

สำหรับการป้องกันปัญหาดังกล่าว กรม สบส. ได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ซึ่งมีในหมู่บ้านที่ประสบภัยทุกแห่งหมู่บ้านละ 10-15 คนทั้ง 8 จังหวัด  ให้ความรู้คำแนะนำประชาชนผ่านทางหอกระจายข่าว  เสริมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและขอความร่วมมือประชาชนให้ร่วมกันรักษาความสะอาดของน้ำที่ท่วมขัง รวมถึงการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม  โดยให้ยึดหลักปฏิบัติดังนี้ 1.ไม่ทิ้งขยะมูลฝอยและไม่ถ่ายอุจจาระลงน้ำ หากส้วมใช้การไม่ได้ ให้ขับถ่ายลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้มิดชิดก่อนนำไปกำจัดให้ถูกสุขลักษณะ  2.ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ 3.ดื่มน้ำสะอาดบรรจุขวดหรือน้ำต้มสุก 4.รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ๆ  5.ไม่นำน้ำท่วมขังมาใช้ล้างภาชนะใส่อาหาร  6.ไม่นำน้ำท่วมขังมาล้างหน้า และ7.ให้ผู้ปกครองดูแลเด็กไม่ให้ลงเล่นน้ำท่วมขัง เพราะอาจติดเชื้อโรคตาแดงได้

ในส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการโรคอุจจาระร่วง ขอให้ถ่ายลงส้วมเพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจาย และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือโอ อาร์ เอส แทนน้ำเปล่า หากไม่มีสามารถทำเองได้โดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุก 1 ขวดกลมหรือ 750 ซี.ซี. ดื่มให้หมดภายใน 1 วัน ถ้าเหลือให้เททิ้ง แล้วผสมใหม่วันต่อวัน  ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังคงอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น  โดยหากอาการไม่ดีขึ้นให้แจ้ง อสม.ในพื้นที่

สำหรับโรคตาแดง หากมีผู้ป่วยอยู่ในบ้าน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะโรคนี้ติดต่อกันง่าย จากการสัมผัสขี้ตาหรือน้ำตาของผู้ป่วยโดยตรง ในการป้องกันเชื้อแพร่กระจาย ขอให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวดังนี้ 1.พักผ่อนให้เพียงพอ งดการใช้สายตา 2.งดการใช้ของใช้ส่วนตัว อาทิ ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่มร่วมกับคนอื่น 3.ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ 4.ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าซับขี้ตา น้ำตา เนื่องจากเชื้อโรคจะสะสมอยู่ในผ้าและติดต่อไปยังผู้อื่น ให้ใช้กระดาษทิชชูซับน้ำตาหรือใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดขี้ตา แล้วทิ้งในถังขยะที่มิดชิด  ส่วนผู้ที่อยู่ร่วมบ้านควรป้องกันตนเองโดยไม่คลุกคลี ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ ไม่ลงเล่นน้ำท่วม ห้ามใช้มือขยี้ตา รักษาความสะอาดเสื้อผ้า และของใช้ส่วนตัว  


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ธ.ค. 2559 เวลา : 14:13:04
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 3:45 pm