เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เกาะติด "แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ" อย่างบูรณาการและยั่งยืน


การประกาศแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ของ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นับเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ  ซึ่งรัฐบาลเองก็ยอมรับว่า สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเราเอง เรื่องการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินโครงการต่างๆ  เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบมาตลอด เช่น การให้สินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล  มาตรการเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานราก เป็นต้น

ซึ่งนอกจากการแก้ไขหนี้นอกระบบแล้ว ต้องพิจารณาด้วยว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดหนี้นอกระบบขึ้น ไม่ให้คนเป็นหนี้ หรือลดหนี้ให้น้อยลง สิ่งสำคัญที่สุด คือ อยู่ที่ตัวเราเอง เรื่องการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การดื่มสุราเป็นประจำก็จะเป็นหนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะทำให้หนี้นอกระบบเป็นศูนย์ คือ หมดสิ้นไป และมาอยู่ในระบบให้หมด เพื่อให้คนทุกคนมีความสุขมากขึ้น เพราะไม่ต้องไปคอยตามทวงหนี้อย่างผิดกฎหมาย และหลบๆ ซ่อนๆ ทำให้มีความไม่สบายใจ

 

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในครั้งนี้ จะได้ผลอย่างแท้จริง เนื่องจากการแก้ปัญหาครั้งนี้แตกต่างจากในอดีต เพราะมีการตั้งธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับหน้าที่ในการแก้หนี้นอกระบบโดยตรง ประกอบกับมีกฎหมายหนี้นอกระบบที่มีโทษหนัก ซึ่งนายกรัฐมนตรีประกาศแล้วว่าจะเอาจริง ต่างจากเดิมที่โทษเกี่ยวกับหนี้นอกระบบและดอกเบี้ยโหด มีโทษไม่สูงนัก จึงไม่เกรงกลัวกัน นอกจากนี้ ในแต่ละพื้นที่จังหวัด ยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้ ซึ่งรัฐบาลได้แก้ไขปัญหาเรื่องคณะกรรมการที่ไม่ค่อยอยากลงไปในพื้นที่ เพราะไม่มีเบี้ยประชุมเรียบร้อยแล้ว โดยในครั้งนี้รัฐบาลจะมีเบี้ยประชุมและประเมินผลการทำงานของอนุกรรมการเป็นระยะๆ

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการให้ดีขึ้นประมาณ 200,000 ราย โดยสามารถติดต่อยื่นลงทะเบียนได้ที่สาขาธนาคารออมสินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยธนาคารจะปล่อยสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกิน 0.85% ต่อเดือน หรือ 18.83% ต่อปี โดยใช้บุคคลค้ำประกันอย่างน้อย 1 คน และ/หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ซึ่งนอกจากมาตรการต่างของรัฐบาลแล้ว การสร้างวินัยทางการเงินก็นับว่ามีส่วนสำคัญไม่น้อย โดยบทบาทของธนาคารพาณิชย์เอกชนในเรื่องดังกล่าว นายวีระพล บดีรัฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง โครงการ “เทรนหนี้” ว่า จะเน้นการสร้างความตระหนักของสังคมในประเด็นการบริหารจัดการหนี้และการมีวินัยในการใช้จ่าย โดยมีสโลแกนสั้นๆ จดจำง่ายว่า “ให้ภาระผ่อนหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน” เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์  ซึ่งเป็นส่วนของการสร้างทัศนคติที่ดีทางด้านการเงิน เป็นกลยุทธ์ป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหา เน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้ที่มีโอกาสเข้าถึงหนี้ในระบบ ทั้งผู้มีรายได้ประจำ ลูกค้าผู้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ตลอดจนนักศึกษาจบใหม่ โดยเมื่อกลุ่มเป้าหมายได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องหนี้เพิ่มขึ้น จะช่วยให้มีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีขึ้น โอกาสเป็นหนี้ที่สร้างใหม่จนกลายเป็นปัญหาในชีวิตและครอบครัวจะลดลง และนำไปสู่การลดปัญหาหนี้ครัวเรือนของระบบเศรษฐกิจได้ในที่สุด


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 มี.ค. 2560 เวลา : 13:33:14
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:09 pm