เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ทีเอ็มบีเตือนรับมือ Yellen shock


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ประเมินกรณีเฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว จะสร้างแรงกดดันให้ ธปท. อาจจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นตาม พร้อมเตือนรับจุดสิ้นสุดของดอกเบี้ยขาลงและค่าเงินผันผวนในปีนี้ หลังจากที่ตลาดเงินและตลาดทุนได้เผชิญกับความปั่นป่วน เมื่อครั้งที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และในตอนนี้ทั้งโลกจะต้องกลับมาเตรียมรับมืออีกครั้ง กับ Yellen Shock หลัง ประธานเฟด นางเจนเน็ต เยลเลน ได้ออกมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วของเฟด หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่ง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ในเดือนมีนาคม


นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เองจะสามารถปรับตัวขึ้นเกินการประมาณการณ์ของเฟดที่ 2% ได้อย่างรวดเร็ว จากการจ้างงานคนอเมริกันที่มากขึ้นส่งผลให้อัตราว่างงานลดลงสู่ระดับ 4.5% และการเพิ่มค่าจ้างที่สูงขึ้น แนวโน้มการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จะทำให้ เฟด มีโอกาสที่จะปรับดอกเบี้ยได้เร็วและแรงตามการคาดการณ์ของเฟด คือ สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในปีนี้
          
โดยศูนย์วิเคราะห์ฯ ได้ประเมินผลกระทบต่อตลาดการเงิน ถ้าหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วถึง 3 ครั้ง ดังนี้
          1. อัตราผลตอบแทน (บอนด์ยีลด์) ของพันธบัตรทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และภาพของอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาลงติดต่อกัน 35 ปี จะหมดไปทันที โดยศูนย์วิเคราะห์ฯ ได้ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ของพันธบัตร 10 ปี ไทยและสหรัฐ สามารถปรับตัวสูงขึ้นถึง 0.6 % ส่งผลให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนที่ไม่น่าสนใจ
          2. อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากเดิมที่มีแนวโน้มทรงตัวที่ 1.50% ตลอดทั้งปีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากถ้าหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% จะทำให้ อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มาอยู่ที่1.50% เทียบเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนที่รุนแรงได้ถ้าหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงอยู่ในระดับเดิม อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทย ยังคงต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าวจะส่งผลให้ ต้นทุนการกู้เงินเพิ่มสู้ขึ้น (ดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย 4 ธนาคารใหญ่จะปรับตัวสูงขึ้น 0.15%) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ผู้ประกอบการก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพิจารณา เปลี่ยน การกู้แบบ Floating rate ให้มาเป็น Fixed rate
          3. ในส่วนค่าเงิน ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า การขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 3 ครั้งของเฟดจะสามารถส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้ถึง 1.5% เป็นอย่างน้อย และมองว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.40-36.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ตลาดเงินมีโอกาสที่จะผันผวนมากขึ้น ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าเงิน ผู้ประกอบการควรหาโอกาสป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน และควรมีการแบ่งขนาดการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อรับมือกับความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้น
          
นอกจากนี้ แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคต จะส่งผลกระทบต่อภาระผ่อนของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อบ้าน โดยทางศูนย์วิเคราะห์ฯมองว่า ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องลดภาระการผ่อน ในปีนี้จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่จะเริ่มมองหาช่องทางในการรีไฟแนนซ์ และถ้าหากประชาชนต้องการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโด และมีความพร้อมที่จะผ่อนชำระ ปีนี้ก็เป็นโอกาสที่ดี ก่อนที่ดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นเต็มตัว
          
ทั้งนี้ ผลกระทบของ Yellen Shock ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นนั้น ชี้ให้เห็นว่า ตลาดการเงินนั้นยากที่จะคาดเดา สิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดแน่นอนในปีนี้ก็คือ ความผันผวนที่จะมีมากขึ้นในตลาด จาก แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนในขนาดของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ อาจจะไม่ได้ตามที่ขอ ความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรป และปัญหาหนี้เสียในจีน ดังนั้น ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทย จึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น

LastUpdate 17/03/2560 14:03:10 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 3:45 am