เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
หนุนใช้ 5 มาตรการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายปลอดเหล้า ช่วงสงกรานต์


คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เห็นชอบ 5 มาตรการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายปลอดเหล้า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2560 อย่างเคร่งครัด  พร้อมตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา หากพบทำผิดแจ้งเรื่องได้ที่สายด่วน 1422 


พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย  ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติครั้งที่ 1/2560

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบกับเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ มาตรการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2560 เนื่องจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 – 2559 พบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรทางถนน 137,385 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 44,590 คน คิดเป็นร้อยละ 32.5 ซึ่งการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดในวันที่ 13 เมษายน และเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 19 ปีสูงสุด

ดังนั้นในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับทุกหน่วยงานภาครัฐ กำหนด 5  มาตรการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายปลอดเหล้า  ช่วงสงกรานต์อย่างเคร่งครัด ได้แก่ 1.ห้ามดื่มบนทางในขณะขับขี่หรือโดยสาร 2.ห้ามขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์  3.ห้ามขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด 4.มุ่งเน้นเฝ้าระวัง ตรวจเตือน ประชาสัมพันธ์กฎหมายเน้นจังหวัดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา หากพบทำผิดแจ้งเรื่องได้ที่สายด่วน 1422 หรือ 02-590-3342 และ 5.เฝ้าระวังรายงานผลการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากพิษภัยแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบกับแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ พ.ศ. 2560 – 2563 และกลไกการขับเคลื่อน ติดตามประเมินผลการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่อไปอย่างเข้มแข็ง เพื่อควบคุมและลดปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ของสังคม ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่  ลดความเสี่ยงที่เกิดจากการบริโภค  เช่น  อุบัติเหตุ  และป้องกันความรุนแรงที่เกิดจากการบริโภค

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบกับชุดข้อแนะนำสำหรับผู้ไม่สมควรดื่มสุรา  ได้แก่  เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ หญิงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะ ผู้ที่ทำงานกับเครื่องจักรกลหรือเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวและประชาชนทุกเพศทุกวัย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 มี.ค. 2560 เวลา : 22:48:42
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 2:18 pm