เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สวทช.จับมือไคสท์ยกระดับอุตสาหกรรมไทย


กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation and Technology Assistance Program) หรือ ไอแทป (ITAP) และ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลี (Korea Advanced Institute of Science and Technology) หรือ ไคสท์ (KAIST) สาธารณรัฐเกาหลี ลงนามความร่วมมือภายใต้โครงการ “เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมไทย” เพื่อนำเทคโนโลยีอัจฉริยะเข้ามายกระดับความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยให้เป็นไปตามนโยบาย ประเทศไทย 4.0


 
ดร.ณรงค์   ศิริเลิศวรกุล   ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สวทช. โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP มีภารกิจในการให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การจัดการ และการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างให้เกิดนวัตกรรมอย่างครบวงจร โดยที่ผ่านมา โปรแกรม ITAP สวทช. ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยบริการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี และเข้าไปวิเคราะห์ปัญหาทางเทคนิคเบื้องต้นที่สถานประกอบการแล้วไม่ต่ำกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งได้จัดทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตและการจัดการมาแล้วไม่น้อยกว่า 6,000 โครงการ ในขณะเดียวกัน ได้สร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ จากหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดการยกระดับเทคโนโลยีแก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สวทช. ยังมีโปรแกรมสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการโดยให้เงินอุดหนุน และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้วย

“สำหรับความร่วมมือกับไคสท์ในครั้งนี้ โปรแกรม ITAP สวทช. ตั้งเป้าหมายในการยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทย ครอบคลุมเทคโนโลยีอัจฉริยะใน 5 หัวข้อ ได้แก่ เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการเกษตร (Smart Farm) เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อสุขภาพและการแพทย์ (Smart Health) เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อที่อยู่อาศัย (Smart Home) เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อโรงงานและการผลิต (Smart Factory) และเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการบริการ (Smart Service) โดยกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอัจฉริยะจากเกาหลีใต้ เริ่มจากการสำรวจความต้องการทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการโดย ITAP ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากไคสท์ จากนั้นผู้เชี่ยวชาญจากไคสท์จะเสนอเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับสถานประกอบการแต่ละแห่ง โดยอาจนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้โดยตรง หรือมีการดัดแปลงเทคโนโลยีเพื่อให้เหมาะสมกับประเทศไทยโดยการร่วมมือในการทำวิจัยร่วมกันระหว่างไคสท์ กับหน่วยงานวิจัยในประเทศ อันจะทำให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีฐานเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมไทยไปสู่ยุค 4.0 ในอนาคต” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

 
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.มุนกี เชว (Dr. Munkee Choi), ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ (Global Commercialization Center: จีซีซี) แห่งไคสท์ กล่าวเสริมว่า “สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลี หรือไคสท์ ในปีที่ผ่านมามีการลงทุนงบวิจัยสูงถึงกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจในการทำวิจัยเพื่อสร้างคุณค่าและนำไปใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ ในการผสานความร่วมมือครั้งนี้ระหว่างโปรแกรม ITAP สวทช. และไคสท์ นับเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อมุ่งสู่การแข่งขันในเวทีภูมิภาคและโลกอย่างยั่งยืน 

ซึ่งปัจจุบันมีความร่วมมือระหว่างกันไปบ้างแล้ว อาทิ ในส่วนของการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการเกษตร (Smart Farm) และด้านอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ Internet of Things แต่ยังเป็นช่วงของการเริ่มต้นพูดคุยเบื้องต้นซึ่งจะต้องมีการหารือในระดับเข้มข้นต่อไป ทั้งนี้ ทางไคสท์มีความต้องการที่จะทำงานร่วมกับ ITAP สวทช. ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ SMEs ไทย รวมทั้งแลกเปลี่ยนงานวิจัยร่วมกัน ซึ่งความร่วมมือจะเป็นลักษณะ 2 ทาง คือ เราเข้ามาสนับสนุนในส่วนที่เรามีความโดดเด่น และจะนำเทคโนโลยีจากประเทศไทยที่ทางเกาหลีขาดกลับไปช่วยสนับสนุนเช่นเดียวกัน เพื่อตอบโจทย์ในการช่วยเหลือ SMEs ทั้งฝั่งไทยและเกาหลีเป็นหลัก ตลอดจนเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศด้วย”
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 มี.ค. 2560 เวลา : 19:35:56
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:51 am