เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เดินหน้า "ยุทธศาสตร์ National e-Payment"


หลังจากที่กระทรวงการคลัง ได้เดินหน้า ยุทธศาสตร์ National e-Payment เลือกผู้ติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลได้กระตุ้นให้คู่ค้าและประชาชนหันมาชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านระบบ  e-Payment  ให้มากขึ้น  

กรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ โดยนำที่ราชพัสดุมาพัฒนาจัดหาประโยชน์ ปัจจุบันมีผู้เช่าที่ราชพัสดุมากกว่า 160,000 รายทั่วประเทศ จึงมีนโยบายเพิ่มช่องทางการชำระค่าเช่าที่ราชพัสดุให้มีความหลากหลายเข้าถึงทุกกลุ่มผู้รับบริการ ภายใต้กลไก "Treasury 4.0" โดยมีเป้าหมาย คือ เพิ่มทางเลือกในการชำระค่าเช่า ผู้รับบริการพึงพอใจ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ผู้รับบริการ
         

 

ดังนั้น จึงได้ดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางชำระค่าเช่าทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) จำนวน 4 ช่องทาง คือ 1) ผ่านบริษัท เคาน์เตอร์-เซอร์วิส จำกัด 2) ผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิต 3) ผ่านการหักบัญชีเงินฝากธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน)  4) ผ่านการรับชำระเงินต่างพื้นที่ทั่วประเทศ
         
ทั้งนี้ กรมธนารักษ์จะเปิดให้บริการชำระค่าเช่าผ่านบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด เป็นลำดับแรก โดยผู้เช่าที่ราชพัสดุสามารถนำใบแจ้งค่าเช่าไปชำระที่ร้านสะดวกซื้อ "7-Eleven" และร้านค้าที่มีสัญลักษณ์เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศด้วยสโลแกน "ชำระง่าย จ่ายสะดวก 24 ชั่วโมง." ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป  สำหรับค่าธรรมเนียมในการชำระเงินในแต่ละครั้งที่จะเรียกเก็บเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ ดังนี้
 
วงเงิน     (บาท)      ค่าธรรมเนียม (บาท/ครั้ง)
< 30,000                        15
30,001 < 60,000           30
60,001 < 90,000           45
       

 

 

ขณะที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดย นางสาวบรรจงจิตต์   อังศุสิงห์  อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ออกประกาศให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่มีการรับชำระเงินจากประชาชน หรือผู้ประกอบการทั่วประเทศ  ดำเนินการติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) อย่างน้อย 1 เครื่อง ต่อสถานประกอบการ 1 แห่ง  เพื่อรองรับระบบ e-Payment และเป็นการเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินให้กับประชาชน ซึ่งปัจจุบันเครื่องรับชำระเงินมีหลากหลายรูปแบบ เช่น เครื่อง EDC เครื่องรูดบัตรมือถือ โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมของร้านค้าและพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือร้านค้าหรือธุรกิจที่ติดตั้งอุปกรณ์ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการติดตั้ง โดยไม่ต้องจ่ายค่าอุปกรณ์ และค่าติดตั้ง นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามที่กรมสรรพากรกำหนดด้วย
         

 

ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถเลือกที่จะติดตั้งเครื่องจากผู้มีสิทธิ์ให้บริการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ รายหนึ่งรายใดตามที่กระทรวงการคลังได้คัดเลือกไว้ ได้แก่  ธนาคารกรุงไทย กรุงศรีอยุธยา ทหารไทย ไทยพาณิชย์   ธนชาต กรุงเทพ และ กสิกรไทย

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 เม.ย. 2560 เวลา : 16:08:12
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 2:07 am