การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สบส. เตือนประชาชนฝนนี้ระวังโรคฉี่หนูระบาด แนะใช้หลักสุขบัญญัติแห่งชาติ สร้างเกราะป้องกันโรค


 

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนประชาชนระวังโรคฉี่หนูในช่วงสถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วม เผยปี 60 พบผู้เสียชีวิตแล้ว จำนวน 20 ราย แนะโรคฉี่หนูป้องกันได้เพียงนำหลักสุขบัญญัติแห่งชาติมาใช้ปฏิบัติ ทั้งการดูแลรักษาความสะอาดร่างกาย ที่พักอาศัย รับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ต้มสุก

นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงนี้ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ทำให้ประชาชนต้องลุยน้ำมาทำงาน ซึ่งมีขยะที่ปนเปื้อนจากฉี่หนู และชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ต้องไปประกอบอาชีพในไร่ นา สวน ซึ่งมีโอกาสได้รับการปนเปื้อนจากฉี่หนูได้ง่าย ซึ่งจากข้อมูลรายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 พฤษภาคม 2560 พบผู้ป่วยเป็นโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) ทั่วประเทศ จำนวน 760 ราย เสียชีวิต 20 ราย ช่วงอายุที่พบอัตราการป่วยมากที่สุด คือ 35-44 ปี  อาชีพที่พบอัตราการป่วยมากที่สุด คือ อาชีพเกษตร ภาคที่มีอัตราป่วยมากที่สุด คือ ภาคใต้ รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางตามลำดับ และจังหวัดที่มีอัตราป่วยมากที่สุด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช 

นายแพทย์ภัทรพล กล่าวต่อว่า โรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อจะแพร่กระจายผ่านฉี่ของหนูสู่แหล่งน้ำ แอ่งน้ำขัง หรือตามพื้นดินโคลน เข้าทางบาดแผล รอยขีดข่วน หรือผิวหนังที่ผ่านการแช่น้ำเป็นเวลานาน และจากอาหาร-น้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ยิ่งในช่วงน้ำท่วม หนูจะหนีน้ำมาหาที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารตามบ้านเรือน อาจจะเกิดการแพร่กระจายของโรคได้ง่าย ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงการติดโรคฉี่หนู จึงขอให้ประชาชนนำหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ เป็นหลักปฏิบัติเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคฉี่หนู ดังนี้ 1) การชำระล้างร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณบาดแผลให้สะอาด หลังจากลุยน้ำหลีกเลี่ยงการย่ำหรือแช่น้ำหรือแช่โคลนนานๆ โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผลตามแขน ขา มือ เท้า ถ้ามีความจำเป็นหรือแช่น้ำ ควรสวมรองเท้าบูท/ถุงมือยาง 2) ดูแลที่พักให้สะอาด ปราศจากสัตว์กัดแทะโดยเฉพาะหนู เก็บกวาด ทิ้งขยะให้มิดชิดไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู 3) รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ หากเป็นอาหารค้างมื้อให้นำไปอุ่นด้วยความร้อนก่อน ดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มบรรจุขวด พร้อมเก็บอาหารในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด 

ทั้งนี้ กรม สบส.ได้ขอความร่วมมือให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.เร่งให้ความรู้ประชาชนทุกหลังคาเรือน ในการปฏิบัติตัวป้องกันโรคและให้รู้จักสัญญาณอาการเฉพาะของโรคฉี่หนู  คือ มีไข้สูงแบบเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลัง น่อง ต้นคอ มีอาการไอ คลื่นไส้อาเจียน ตาแดง ซึ่งหากประชาชนรายใดมีอาการข้างต้น ขอให้รีบแจ้ง หรือไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องโดยทันที


บันทึกโดย : วันที่ : 05 มิ.ย. 2560 เวลา : 15:40:44
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 5:01 pm