เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สรุปการสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง FPO Forum


 

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดการสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยการสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการขยายบทบาทของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สู่ภูมิภาค และสร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทของ สศค. รวมทั้งนำเสนอนโยบายและมาตรการเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ สศค. ได้ริเริ่มในช่วงที่ผ่านมา เช่น มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มาตรการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (Pico Finance) และโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการ แห่งรัฐ เป็นต้น ทั้งนี้ การสัมมนามีผู้เข้าร่วมงานทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ผู้แทนองค์กรการเงินชุมชน สถาบันการศึกษา และประชาชนจากจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ มหาสารคาม ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ มุกดาหาร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และบุรีรัมย์ รวมประมาณ 350 คน โดยได้รับเกียรติจากนายชยันต์ ศิริมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวต้อนรับ ซึ่งได้กล่าวถึงความสำคัญของจังหวัดร้อยเอ็ด   ในการเป็นจังหวัดที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม และมีทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ และกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มีชื่อเสียงของไทย นอกจากนี้ จังหวัดร้อยเอ็ดมีจุดเด่นในด้านของแหล่งท่องเที่ยวมากมายที่ขึ้นชื่อ เช่น บึงพลาญชัย พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ทุ่งกุลาร้องไห้ และกู่กาสิงห์ เป็นต้น

ในช่วงเช้าเป็นการสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ออนซอนอีสาน เว้าสารเศรษฐกิจ” โดยมีนายสมเกียรติ ชัยคณารักษ์กูล ประธานหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด นายนรชิต จิรสัทธรรม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนางวิภารัตน์ ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ สำนักนโยบายเศรษฐกิจ
มหภาค สศค. ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีนายจักรี พิศาลพฤกษ์ เศรษฐกรปฏิบัติการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. เป็นผู้ดำเนินรายการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้  

นางวิภารัตน์ ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ กล่าวว่า ภาพรวมโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในอดีตมีการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งภาคการผลิต ภาคเกษตรกรรม เป็นหลัก ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบันมีการพึ่งพา     ภาคการบริการเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านการขนส่ง บริการอสังหาริมทรัพย์และบริการด้านธุรกิจ แต่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคเกษตรกรรมลดลงเมื่อเทียบกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในอดีต นอกจากนี้ เศรษฐกิจปัจจุบันมีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนอย่างชัดเจน ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ของประเทศ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการ     มอเตอร์เวย์ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น ขณะที่แนวโน้มรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกและผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง

นายสมเกียรติ ชัยคณารักษ์กูล กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ดมีจุดเด่นในฐานะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่เชื่อมโยงจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีการวางผังเมืองที่ดี ส่งผลให้จังหวัดมีศักยภาพ สามารถเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตาม จังหวัดร้อยเอ็ดยังมีปัญหาที่สำคัญ 2 ประการคือ 1) ขาดระบบการขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ และ 2) ขาดสินค้าเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นสำคัญ สำหรับประเด็นการลงทุนมีโครงการลงทุนที่สำคัญระดับจังหวัดและภูมิภาค ได้แก่ การขยายอาคารที่พักผู้โดยสารและ   ทางวิ่งเครื่องบินเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบิน การสร้างสถานีขนส่งแห่งที่ 2 เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนจากสถานีรถไฟร้อยเอ็ดไปยังสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งรองรับการเดินทางโดยรถไฟทางคู่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และการเพิ่มระบบขนส่งมวลชน เพื่อรองรับการเดินทางภายในจังหวัด ทั้งนี้ เอกชนมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในชุมชนผ่านการสร้างตราสินค้าชุมชน และการปรับปรุงกระบวนการผลิต การแปรรูป และการบรรจุภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค การเพิ่มนวัตกรรมโดยการนำเทคโนโลยีและงานวิจัยมาพัฒนาสินค้าให้มีเอกลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่ม และการส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์และเครือข่ายองค์กรเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายนรชิต จิรสัทธรรม กล่าวถึง เศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงขยายตัวได้ดี สะท้อนจากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Gross Provincial Product: GPP) ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเศรษฐกิจที่หลากหลาย มีทั้งจังหวัดที่เป็นเมืองอุตสาหกรรม เมืองการค้าและบริการ และเมืองเกษตรกรรม และมีการขยายตัวของการค้าปลีกสมัยใหม่ ในด้านปัจจัยการผลิต พบว่า      การลงทุนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่แรงงานกลับมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ จากการศึกษางานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ของภาคเกษตรล่าสุด พบว่า การถ่ายโอนความเสี่ยงในการปลูกพืชหลังนาของเกษตรกรผ่านการให้คำแนะนำและความช่วยเหลือเกษตรกรในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต การให้ความรู้ในการปลูกพืชหลังนา โดยมีหลักประกันรายได้จากการขายผลผลิต ได้มีส่วนช่วยให้เกษตรกรมีทัศนคติที่ดีต่อการปลูกพืชหลังนา และ        ช่วยลดความหวาดกลัวการปลูกพืชหลังนาของเกษตรกรลงได้ ทั้งนี้ เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในภาพรวมยังคงประสบปัญหาจากความเชื่อมั่นภาคการผลิตที่ยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น และมูลค่าการส่งออกชายแดนไปยังประเทศลาวและประเทศกัมพูชาที่ลดลง

กล่าวโดยสรุปการสัมมนาวิชาการฯ ในช่วงเช้า ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย รวมถึงความสำคัญและปัญหาอุปสรรคของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดร้อยเอ็ด  เพื่อเป็นแนวทางในการให้   ความช่วยเหลือของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐบาลและเอกชน ในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจชุมชนฐานรากเกิดความเข้มแข็งและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป

ในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาในหัวข้อ “รู้ลึก รู้ทัน การเงินฐานราก” ซึ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้ความรู้ด้านการเงินระดับฐานรากและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายจรรยงค์ สุวรรณศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดร้อยเอ็ด นายสุพล กำสมุทร ปราชญ์ชุมชน จังหวัดร้อยเอ็ด และนางสาวเอม เจริญทองตระกูล ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยมีนางกุลวีร์ สภาวสุ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในการเสวนาในช่วงบ่าย เป็นการกล่าวถึงบทบาทของกระทรวงการคลังในด้านการเงินฐานราก โดยกระทรวงการคลังได้จัดทำแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560 - 2564 ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางในการพัฒนาระบบการเงินระดับฐานรากและกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนและบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี ประกาศเจตนารมณ์ในการขจัดหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์              ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ใน 5 มิติด้วยกัน ได้แก่ 1. การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบ 2. เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ 3. ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการ    ไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ 4. เพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ และ 5. สนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหา         หนี้นอกระบบของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรการเงินชุมชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบเพิ่มขึ้น โดยการอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อรายย่อยประเภทใหม่ ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ซึ่งปัจจุบันจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นจังหวัด   ที่มีผู้ยื่นคำขอประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มากที่สุดถึง 19 ราย นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงการสร้างความรู้และวินัยทางการเงินเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อปัญหาหนี้สินของประชาชนด้วย

นายสุพล กำสมุทร ได้กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนโดยอาศัยหลักการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายด้วยการดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ส่งเสริมให้ชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ส่งเสริมการทำปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตน้ำดื่มชุมชุนเพื่อบริโภคในชุนชนและจำหน่าย โดยมีร้านค้าชุมชนเป็นช่องทางการจำหน่ายผลผลิต นอกจากนี้ ยังมีโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านโรงเรียนชาวนา ซึ่งนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง จนกลายเป็นความผาสุกที่ยั่งยืน

นายจรรยงค์ สุวรรณศรี ได้กล่าวถึงบทบาทของ ธ.ก.ส. ในการกำหนดมาตรการการให้บริการทางการเงินภาคชนบท และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคประเทศไทย 4.0 และสร้างความภาคภูมิใจให้กับเกษตรกร โดยมุ่งมั่นเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้นผ่านโครงการสนับสนุนของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยในภาคเกษตรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การส่งเสริมผู้ประกอบการภาคการเกษตร (SMAEs)   โดยสนับสนุนทั้งสินเชื่อแก่ SME เกษตร และการให้ความรู้ความเข้าใจทางการเงิน (Financial Literacy) ตามหลัก “3 รู้” คือ รู้ชีวิต รู้การออม และรู้ก่อนกู้   ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะยาว

กล่าวโดยสรุป การสัมมนาวิชาการฯ ในช่วงบ่าย ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้าง       ความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนและระบบการเงินฐานราก โดยรัฐบาลได้ร่วมกับธนาคารของรัฐ และผู้นำชุมชน ในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีศักยภาพทางการเงินที่มั่นคงและยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป


บันทึกโดย : วันที่ : 10 มิ.ย. 2560 เวลา : 23:02:57
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 11:49 am