เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สคร. ใช้ PPP Fast Track โครงการรถไฟฟ้า 3 สาย สำเร็จภายใน 9 เดือน


นายเอกนิติ  นิติทัณฑ์ประภาศ  ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) แถลงถึงความสำเร็จของนโยบายรัฐบาลในการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) เพื่อพัฒนาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยสามารถผลักดันโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย  มูลค่าโครงการ 1.9 แสนล้านบาท ได้สำเร็จภายใน 9 เดือน

ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ (โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย) มูลค่าโครงการ 83,877 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู) มูลค่าโครงการ  56,691 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง (โครงการรถไฟฟ้าสายเหลือง) มูลค่าโครงการ 54,644 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้า 3 สาย ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556) เสร็จสิ้นแล้ว  โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายได้มีการลงนามในสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและโครงการรถไฟฟ้าสายเหลืองจะมีการลงนามในสัญญาในวันที่ 16 มิถุนายน 2560

นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการ PPP ทั้ง 3 โครงการได้เร็วขึ้นจะทำให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกสบาย ลดความแออัดของการจราจร และลดการสิ้นเปลืองพลังงานของประเทศ


นางปานทิพย์  ศรีพิมล  ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการ PPP Fast Track เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนของรัฐบาล โดยการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ในการทำงานในบางขั้นตอนให้คู่ขนานกันไป โดย สคร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ PPP  ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในกำหนดรายการข้อมูลที่จำเป็นในการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนให้ชัดเจน (Checklist) และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้ลดระยะเวลาการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ที่จะใช้เวลาตั้งแต่เริ่มทำการศึกษาโครงการจนถึงการประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนจากเวลาปกติประมาณ 25 เดือน ให้เหลือเพียง 9 เดือน
 
นอกจากนี้ จะได้นำบทเรียนต่างๆ รวมถึงกลไกสำคัญของมาตรการ PPP Fast Track มาใช้ในการปรับปรุง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ด้วย ซึ่งปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เห็นชอบหลักการของการปรับปรุง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 แล้ว โดยมีหลักการสำคัญในการส่งเสริมโครงการร่วมลงทุนให้มากขึ้น มีขั้นตอนที่กระชับชัดเจน แต่ยังคงความโปร่งใส เปิดเผย และตรวจสอบได้ รวมทั้งยึดหลักวินัยการเงินการคลัง เช่นเดิม ทั้งนี้ คาดว่าจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ฉบับปรับปรุงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2560  
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวสรุปว่า ทั้งมาตรการ PPP Fast Track และการปรับปรุง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่ต้องการส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่จะช่วยทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้เร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนดียิ่งขึ้น และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้มีการลงทุนจากความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานเฉลี่ยปีละ 47,000 ล้านบาท
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 มิ.ย. 2560 เวลา : 20:22:37
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:34 pm