เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กบง.อนุมัติโซนนิ่งรับซื้อไฟฟ้า SPP Hybrid Firm


นายทวารัฐ  สูตะบุตร  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารายภูมิภาคตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm จากเป้าหมายการรับซื้อ 300 เมกะวัตต์  พร้อมทั้งขยายระยะเวลาวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของการรับซื้อไฟฟ้า เป็นภายในปี 64 จากเดิมภายในปี 63

          
ขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้แจ้งตารางกำหนดเวลาสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าในช่วงต้นเดือนต.ค. และสามารถประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกภายในเดือน ธ.ค.60
          
“ตั้งแต่วันที่ 7-21 สิงหาคม ทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเปิดรับตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบ ภายในเดือนกันยาฯ เรกกูเรเตอร์ จะจัดชี้แจงและซักซ้อมความเข้าใจ เตรียมที่จะเปิดให้ยื่นข้อเสนอขายไฟในช่วงต้นเดือนตุลาฯ คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกภายในเดือนธันวาฯ 60 ประเด็นเชื่อมโยงนโยบาย ถ้าพบว่าพลังงานทดแทนสามารถที่จะพัฒนาให้เกิดระบบที่ Firm ได้ ก็จะเป็นข้อมูลประกอบการปรับแผน PDP"นายทวารัฐ กล่าว
          
 
 
นายทวารัฐ กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้า SPP Hybrid Firm แบ่งเป็น ภาคกลาง 20 เมกะวัตต์, กรุงเทพฯ และปริมณฑล  15 เมกะวัตต์, ภาคตะวันออก 20 เมกะวัตต์, ภาคใต้ 100 เมกะวัตต์, ภาคตะวันตก 20 เมกะวัตต์, ภาคเหนือ 65 เมกะวัตต์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  60 เมกะวัตต์
          
ทั้งนี้ หากปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าฯ ในภูมิภาคใดไม่ครบตามเป้า ให้ กกพ.สามารถนำส่วนที่เหลือไปเปิดรับซื้อในภูมิภาคอื่นได้ โดยให้คำนึงถึงราคารับซื้อไฟฟ้าที่ต่ำที่สุดและศักยภาพของสายส่ง (Grid Capacity) ที่รองรับได้เป็นสำคัญ และสำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าฯ โครงการ SPP Hybrid Firm ในครั้งนี้ จะยกเว้นการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน แต่ให้สามารถใช้เชื้อเพลิง RDF เป็นเชื้อเพลิงร่วมได้
          
พร้อมกันนี้ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระยะเวลาในการดำเนินงานจริง เนื่องจากโครงการ SPP Hybrid Firm เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ที่ประชุม กบง.จึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลากำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ของโครงการ ขณะที่ให้ใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 17 ก.พ.60 โดยมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการเปิดรับซื้อไฟฟ้าฯ ตามขั้นตอนต่อไป
          
นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กบง. รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 โดยพบว่า สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างใกล้เคียงกับแผน โดยในส่วนของก๊าซธรรมชาติลดลงมาอยู่ที่ 61% ส่วนพลังงานหมุนเวียน อยู่ที่ 8% ซึ่งต่ำกว่าแผนเล็กน้อย
          
ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามเป้า ส่งผลทำให้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน มีสัดส่วนสูงกว่าแผน และสำหรับปริมาณการผลิตไฟฟ้าจริงในระบบของ 3 การไฟฟ้า อยู่ที่ 81,867 หน่วย ซึ่งต่ำกว่าแผนประมาณ 5% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่มีฝนมากกว่าปกติ ทำให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวไม่สูงมากนัก รวมทั้งมีสัญญาณที่ประชาชนเริ่มผลิตไฟเองใช้เองมากขึ้น

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ส.ค. 2560 เวลา : 20:18:21
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:36 pm