การตลาด
สกู๊ป : ยัมฯย้ำชัดคุมแผนการตลาด 3 แฟรนไชส์เคเอฟซีเหมือนกัน


ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีข่าวไหนจะร้อนแรงเท่าข่าวการซื้อกิจการร้านเคเอฟซีของกลุ่มไทยเบฟ ซึ่งครั้งนี้ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ยอมทุ่มงบมากถึง 11,300 ล้านบาท ในการเข้าซื้อกิจการร้านเคเอฟซีทั้ง 244 สาขา ของบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเติมเต็มให้กับธุรกิจในเครือ  ซึ่งในส่วนของขั้นตอนการซื้อขายกิจการดังกล่าวเบื้องต้นคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2560 นี้

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้หลายคนต่างจับตามองว่า หลังจาก บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชียจำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มไทยเบฟ เข้ามาบริหารร้านเคเอฟซีจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง โดยเฉพาะบริการในด้านของเครื่องดื่ม เนื่องจากกลุ่มไทยเบฟมีธุรกิจเครื่องดื่มหลายตัวที่อยู่ภายใต้การดูแล

นอกจากนี้  ในด้านของไก่ที่จะนำมาปรุงเป็นอาหารจำหน่ายภายในร้านเคเอฟซี จะมีการสั่งซื้อล็อตใหญ่จากผู้ประกอบการรายใหญ่หรือไม่ หรือจะมีการเทคโอเวอร์กิจการธุรกิจไก่แปรรูป เพื่อนำมาต่อยอดให้กับธุรกิจร้านเคเอฟซี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคำถาม และเป็นที่จับตาทั้งคนในวงการธุรกิจและผู้บริโภค

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจอาหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การซื้อกิจการร้านเคเอฟซีในประเทศไทยครั้งนี้  ถือเป็นโอกาสของบริษัทที่จะขยายธุรกิจอาหารให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะร้านเคเอฟซีมีฐานลูกค้าที่กว้างขวาง นอกจากนี้ ยังจะทำให้บริษัทเข้าใจเทรนด์ในการรับประทานอาหารของผู้บริโภค เนื่องจากร้านเคเอฟซีถือเป็นธุรกิจระดับแนวหน้าของธุรกิจอาหารในประเทศไทย

แม้ว่าขณะนี้ กลุ่มไทยเบฟจะยังไม่สามารถออกมาประกาศได้ว่านับจากนี้ จะมีการขยายสาขาร้านเคเอฟซีปีละกี่สาขา เนื่องจากการซื้อขายยังไม่เสร็จสิ้น แต่บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้านเคเอฟซีก็ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า หลังจากได้กลุ่มไทยเบฟเข้ามาเป็นพันธมิตรรายที่ 3 ในการร่วมกันดำเนินธุรกิจร้านเคเอฟซี  มั่นใจว่าเป้าหมายของการขยายสาขาร้านเคเอฟซีที่วางไว้ที่ 800 สาขาภายในปี 2563 ต้องถึงเป้าหมายที่วางไว้เร็วกว่าแผนงานเดิมที่วางไว้อย่างแน่นอน

ด้าน นางแววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป เคเอฟซี ประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้ประกาศปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ ด้วยการเปิดให้นักธุรกิจที่สนใจเข้ามาลงทุนร้านเคเอฟซี  เพื่อให้การดำเนินธุรกิจร้านเคเอฟซีในประเทศไทยเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ 100% (รีแฟรนไชส์) ไปเมื่อปีที่ผ่านมา  จากเดิมมีบริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์เพียงรายเดียวพบว่า มีผู้สนใจเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์เป็นจำนวนมาก  

สำหรับพันธมิตรรายแรกที่เข้ามาซื้อแฟรนไชส์ไชส์ต่อจากซีอาร์จี คือ บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด (อาร์ดี) เข้ามาซื้อแฟรนไชส์จำนวน 130 สาขา

และรายล่าสุด คือ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย ในกลุ่มไทยเบฟ เข้ามาซื้อแฟรนไชส์ที่เหลือทั้งหมด 244 สาขา ส่งผลให้ปัจจุบันธุรกิจร้านเคเอฟซีของบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ฯ  ก้าวไปในรูปแบบแฟรนไชส์ 100% เต็ม ซึ่งจะมีผลอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้  

จากจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ร้านเคเอฟซีที่มีมากถึง 3 ราย ส่งผลให้หลายคนเกิดคำถามว่า จะแบ่งพื้นที่ในการขยายสาขากันอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ทางบริษัท ยัมเรสเทอรองตส์ฯ ก็มีคำตอบให้ว่า การเข้ามาของแฟรนไชซ์รายใหม่ ไม่ได้ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างแฟรนไชส์ด้วยกัน ในการบริหารแบรนด์เคเอฟซีประเทศไทย แต่จะเป็นการผนึกกำลังให้เป็นหนึ่งเดียว โดยมีบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ฯ เป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ในการตลาดสำหรับร้านเคเอฟซีเหมือนกันทุกร้าน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคชาวไทย แฟรนไชส์ทุกเจ้าจะเติบโตตามศักยภาพที่ตนเองมีซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ร่วมกัน 

ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการตอกย้ำแบรนด์เคเอฟซีให้เป็นแบรด์อันดับหนึ่งในตลาด ทั้งในเรื่อง Share of visit และเรื่องของการเติบโตเร็วที่สุด ดังนั้นการที่ได้บริษัทที่มีศักยภาพสูงเข้ามาเป็นแฟรนไชส์ร้านเคเอฟซี ยิ่งทำให้มีการเติบโตที่สูงขึ้น และสามารถครองความเป็นหนึ่งในตลาดประเทศไทยได้อย่างแข็งแกร่งและมั่นคง

ส่วนเรื่องที่หลายคนมีข้อสงสัยว่า เครื่องดื่มภายในร้านเคเอฟซี ซึ่งปัจจุบันเป็นของแบรนด์เป๊ปซี่จะเปลี่ยนเป็นแบรนด์เอส และน้ำดื่มตราช้างนั้น  ทางบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ฯ ก็ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวเช่นกัน โดยระบุว่า นโยบายด้านการคัดเลือกสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในร้านของเคเอฟซีทั่วประเทศ ยังคงถูกกำหนดโดย ยัมฯ ในฐานะผู้บริหารแบรนด์และแฟรนไชส์ ซึ่งคงทำหน้าที่อย่างเข้มข้นในการกำหนดและรักษามาตรฐานของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนสินค้าและบริการภายในร้านเคเอฟซี โดยยึดตามนโยบายเคเอฟซี โกลบอล ซึ่งเน้นถึงความสำคัญของการให้สินค้าและบริการของเคเอฟซีแก่ลูกค้าอย่างดีเหมือนกันทุกสาขา ถึงแม้ว่ากลุ่มไทยเบฟ จะเข้ามาเป็นแฟรนไชส์พาร์ตเนอร์รายล่าสุด มาตรฐานดังกล่าวข้างต้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง

เช่นเดียวกับการทำโปรโมชั่นภายในร้าน ซึ่งยังคงต้องทำการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการขายเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชั่น สินค้า บริการ ราคา หรือแม้แต่การเปิดสาขา ส่วนเรื่องของโลเคชั่นในการขยายสาขา ซึ่งบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ฯ จะเข้าไปร่วมพิจารณา  แต่อย่างไรก็ดี การที่เจ้าของแฟรนไชส์มีห้างค้าปลีกเป็นของตัวเองก็จะมีสิทธิ์เลือกโลเคชั่นของตัวเองในการเปิดร้านเคเอฟซีก่อน

ภาพการทำตลาดของร้านเคเอฟซีนับจากนี้จะเป็นอย่างไรคงต้องรอดูหลังสิ้นปีนี้  ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นไปเชื่อว่าการขยายสาขาของร้านเคเอฟซีต้องมีความเข้มข้นขึ้น และแทรกซึมเข้าไปเกือบทุกอำเภอของประเทศไทยเหมือนอย่างที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน 


บันทึกโดย : วันที่ : 11 ส.ค. 2560 เวลา : 20:45:22
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 11:18 am