เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยันมีเครื่องมือพร้อมดูแลเงินบาทแข็งค่า ระบุไม่พบการเก็งกำไรค่าเงินบาท


 ผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับเงินบาทเงินบาทแข็งค่ามากสุดในภูมิภาค แต่ยังไม่พบการเก็งกำไร ยันมีเครื่องมือพร้อมจะดูแล และเตรียมเสนอมาตรการช่วยเอสเอ็มอีจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ต่อ ครม. เร็วๆ นี้ ดึง "สสว." ช่วยซัพพอร์ตค่าธรรมเนียมบางส่วน


นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) กล่าวยอมรับค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และไม่พบความผิดปกติในการเข้ามาเก็งกำไร อย่างไรก็ตาม ธปท.มีเครื่องมือที่พร้อมจะดูแลการแข็งค่าของเงินบาท

ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าเกิดจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า และมีเงินทุนไหลเข้ามาโดยเฉพาะเดือน ก.ค.มีเงินทุนโดยตรงไหลเข้าจำนวนมาก ประกอบกับไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดด้วย

หากมองในแง่ผลกระทบ จะเกิดขึ้นกับผู้ส่งออกที่ไม่มีการนำเข้า จะได้รับเงินบาทน้อยลงเวลานำเงินดอลลาร์มาแปลงเป็นเงินบาท โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเริ่มเห็นผู้ส่งออกปรับตัวหันมาใช้เงินสกุลอื่นแทน อาทิ เงินยูโร และเงินเยน เพื่อลดความผันผวนของค่าเงิน

"ปีนี้ ธปท.คาดประเทศไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 9% ของจีดีพี ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่เกินดุล 12% ของจีดีพี หลังยอดการนำเข้าสินค้าทุน และการลงทุนเริ่มมากขึ้น อาจจะมีส่วนช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทได้เช่นกัน"ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ
  
นายวิรไทกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยกระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ต่อคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ ในเรื่องการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะเปิดให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก สามารถจองอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าได้ โดยมีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นผู้สนับสนุนค่าธรรมเนียมบางส่วนให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ ในการคิดค่าธรรมเนียมในอัตราพิเศษด้วย

สำหรับการดำเนินมาตรการลดวงเงินประมูลพันธบัตรธปท.ระยะสั้น ยังดำเนินการต่อไป โดยจะพิจารณาตามสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาการลดวงเงินออกพันธบัตรดังกล่าว ช่วยลดแรงจูงใจของนักลงทุนที่จะนำเงินมาพักในตลาดเงินไทยได้ ขณะที่กระทรวงการคลังมีการออกพันธบัตร เพื่อกู้เงินระยะสั้นน้อยลง เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ แต่เมื่อเข้าสู่ต้นปีงบประมาณ กระทรวงการคลังอาจจะมีการกู้เงินเพิ่มขึ้น ดังนั้นการออกพันธบัตรจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์แต่ละช่วง

สำหรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการกระจายไปยังภาคเศรษฐกิจต่างๆ มากขึ้น ซึ่งได้อานิสงส์จากการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐ แต่การส่งผ่านอาจจะต้องใช้เวลา 

ผู้ว่าการธปท. ยังกล่าวอีกว่า ในสิ้นเดือนส.ค.นี้ จะออกมาตรฐานการใช้ QR Code เพื่อการชำระเงิน ซึ่งคาดจะช่วยหนุนให้การทำธุรกรรมผ่านระบบพร้อมเพย์ มีมากขึ้น และในเดือน ก.ย.จะเปิดให้การโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Wallet สามารถโอนเงินผ่านธุรกรรมพร้อมเพย์ได้ ก่อนที่ในช่วงปลายปีนี้จะเปิดให้การชำระค่าสินค้า หรือ Bill Payment สามารถทำธุรกรรมด้วยระบบพร้อมเพย์ได้ด้วย

สำหรับระบบพร้อมเพย์ ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 32 ล้านหมายเลข โดยมูลค่าสะสมของการทำธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์ ตั้งแต่เริ่มให้บริการจนถึงวันที่ 10 ส.ค.60 เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน มียอดการทำธุรกรรมทั้งสิ้น 1.05 แสนล้านบาท ขยายตัวได้รวดเร็วมาก โดยพบการทำธุรกรรมมากที่สุด ในช่วงสิ้นเดือนก.ค. จำนวน 2.9 แสนรายการ/วันเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ยังเชื่อว่าจะขยายตัวได้อีกมาก เมื่อเทียบกับช่องทางการโอนเงินปกติ

บันทึกโดย : วันที่ : 17 ส.ค. 2560 เวลา : 19:40:25
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 6:11 pm