การตลาด
สกู๊ป "ทิปโก้" เปิดศึก "ซีพี-เมจิ" ชิงเค้กเครื่องดื่มไฮโปรตีน


จากกระแสรักสุขภาพที่มาแรง ส่งผลให้ผู้ประกอบการตลาดเครื่องดื่มต่างมองหาโอกาสที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเข้าไปเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้รักสุขภาพ ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงสวนกระแสภาพรวมตลาดเครื่องดื่มต่างๆ คือ ตลาดเครื่องดื่มไฮโปรตีน เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยหันมาใส่ใจรูปร่าง และส่วนหนึ่งต้องการสร้างกล้ามเนื้อที่แข็งแรง

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีผู้ประกอบการทำตลาดเครื่องดื่มไฮโปรตีนมากนัก และกลุ่มเครื่องดื่มที่ผลิตเข้ามาทำตลาดในปัจจุบัน ยังคงเป็นกลุ่มนมพร้อมดื่ม ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้ามาทำตลาดไฮโปรตีนอย่างจริงจัง ก็มีเพียง บริษัท  บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ผู้ผลิตและผู้นำตลาดด้านนมสดพาสเจอร์ไรซ์ "เมจิ" และโยเกิร์ต "เมจิ บัลแกเรีย" โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวเมจิ ไฮโปรตีน2 สูตร 2 รสชาติ ได้แก่ เมจิ ไฮโปรตีน สูตรเวย์ (รสช็อคโกแลต) เป็นเวย์โปรตีนคุณภาพสูงนำเข้าจากอเมริกา และ สูตรแอลคาร์นิทีน (รสจืด)

หลังจาก ซีพีเมเจิ ได้ออกมาเปิดตัวสินค้าดังกล่าวเข้าทำตลาด พบว่า ได้ผลการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่รักสุขภาพ และชอบออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ จากความสำเร็จที่ ซีพีเมจิ ได้รับดังกล่าว ส่งผลให้ "ดัชมิลล์" เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัว ดัชมิลล์ ไฮโปรตีน เข้ามาทำตลาดจำนวน 2 รส คือ รสช็อคโกแลต กับ รสชาเขียว

นอกจากนี้ ดัชมิลล์ ยังส่ง "ดีน่า แบล็ค ไฮโปรตีน นมถั่วเหลือง" เข้ามาเสริมทัพ จากผู้เล่นในตลาดที่ยังมีน้อยราย ส่งผลให้ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มไฮโปรตีนมีมูลค่าเพียง 360 ล้านบาท โดยมี ซีพีเมจิ เป็นเจ้าตลาดด้วยการครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 90% ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 10% เป็นของดัชมิลล์ และผู้เล่นรายเล็กๆ ที่ไม่ได้ออกมาใช้งบทำการตลาดอย่างจริงจัง

 

แม้ว่าตลาดเครื่องดื่มไฮโปรตีนในประเทศไทยจะยังมีมูลค่าน้อย แต่จากแนวโน้มการเติบโตในแต่ละปีที่ผ่านมาที่มีไม่ต่ำกว่า 10% และนับจากนี้ไปจนถึงปี 2564 ที่คาดว่ตลาดเครื่องดื่มไฮโปรตีนทั่วโลจะมีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 10.56% ส่งผลให้ บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกั(มหาชน) มองเห็นโอกาสในการเข้ามาทำตลาดเครื่องดื่มไฮโปรตีน ด้วยการออกมาเปิดตัว "ทิปโก้ บีท" เข้ามาทำตลาด

จุดเด่นของทิปโก้ บีท ที่แตกต่างไปจากคู่แข่งในตลาด คือ การเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของเครื่องดื่มไฮโปรตีน ที่เป็น Plant Protein หรือโปรตีนที่มาจากพืช ขณะที่คู่แข่งในตลาดส่วนใหญ่ ยังคงใช้ไฮโปรตีนที่ได้มาจากสัตว์ นั่นก็คือนมวัว ซึ่งในส่วนของพืชที่ ทิปโก้ เลือกนำมาสกัดเป็นไฮโปรตีน คือ ถั่วลั่นเตา หรือที่เรียกว่า ถั่วพีสีเหลือง ปลูกที่ประเทศแคนาดา จุดเด่นของถั่วพีสีเหลืองนี้ คือ มี Pro Nutri-P ลิขสิทธิ์เฉพาะของทิปโก้

สำหรับ สินค้าที่ ทิปโก้ บีท ผลิตเข้ามาทำตลาดในปีนี้ มีด้วยกัน 1 รสชาติ คือ รส Original ขนาด 250 มล.ราคา 35 บาท เนื่องจากเป็นช่วงแรกของการทำตลาด ดังนั้นจึงจะเน้นการสร้างแบรนด์สินค้าเป็นหลัก ด้วยการพัฒนาแพคเกจจิ้งที่ออกแบบอย่างพรีเมี่ยมดีไซน์เท่ หรู ทันสมัย จับกระชับมือเหมาะกับคนรุ่นใหม่



 

นายเอกพล พงศ์สถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของการตลาด ทิปโก้ บีท บริษัทจะเน้นการจำหน่ายสินค้าไปที่ร้านสะดวกซื้อ อย่าง เซเว่นอีเลฟเว่น ควบคู่ไปกับการจำหน่ายสินค้าไปตามสถานที่ออกกำลังกายต่างๆ เช่น ฟิตเนส สนามกีฬา และสวนสาธารณะ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักของ ทิปโก้ บีท คือ ผู้บริโภคที่รักสุขภาพและรักการออกกำลังกาย

ทั้งนี้ เพื่อให้สินค้าของ ทิปโก้ บีท เป็นที่รู้จักเร็วขึ้น จึงได้มีการดึง "น้ำตาล ชาลิตา ส่วนเสน่ห์"  มาเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาให้กับ ทิปโก้ บีท เนื่องจาก "น้ำตาล  ชาลิตา" มี Insight ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่มี Attitude ที่สตรอง มั่นใจ ต้องการที่จะสู้ เพื่อเอาชนะใจตัวเองให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ เห็นได้จากช่วงที่ประกวด Miss Universe 2016 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงที่เข้ารอบ 6 คนสุดท้าย "น้ำตาล ชาลิตา" ได้มีการแสดง attitude ที่สตรองของเธอทั้งจากบุคลิกภาพ การเดิน การตอบคำถาม สายตา และท่าทางต่างๆ ที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เห็นแล้วอยากมีพลังอยากจะปฏิวัติตัวเองให้มีหุ่น และ attitude ให้สตรองได้แบบ "น้ำตาล  ชาลิตา" ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ตรงกับ Brand Concept การทำตลาดของ ทิปโก้ บีท จึงได้เลือก "น้ำตาล ชาลิตา" มาเป็นพรีเซ็นเตอร์

 

นอกจากนี้ ทิปโก้ ยังได้มีการใช้งบการตลาดกว่า 50 ล้านบาท มุ่งเน้นการตลาดเชิงสร้างสรรค์และสร้างการรับรู้ ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่องแบบ 360 องศาทั้ง Above the line และ Below the line พร้อมกันนี้ ยังมีแผนที่จะจัดกิจกรรมโรดโชว์และแจกสินค้าตัวอย่างตามสถานที่ออกกำลังกายต่างๆ รวมไปถึงการเข้าไปร่วมสนับสนุนส่งเสริมด้านกีฬาในการทำกิจกรรมกับกลุ่มนักออกกำลังกายทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น ฟิตเนส และ โยคะ เพื่อสร้างความใกล้ชิดระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค

หลังจากออกมาทำกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทิปโก้ คาดหวังว่าในอีก 3 ปีนับจากนี้ หรือประมาณปี 2563 น่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 30% ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว คาดการณ์กันว่าภาพรวมตลาดเครื่องดื่มไฮโปรตีนน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท

นายเอกพล กล่าวต่อว่า แนวทางการตลาดภายใน 3 ปีนับจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะพัฒนาเครื่องดื่มใหม่ๆ ที่อยูในกลุ่มดูแลสุขภาพ และการออกกำลังกายเข้ามาทำตลาดมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจทำสารสกัดจากธรรมชาติส่งออกไปทำตลาดในประเทศต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้นบริษัทจึงมีแผนที่จะนำสารสกัดที่วิจัยและพัฒนาได้มาพัฒนาเป็นสินค้าตัวใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่มีความสนใจจะพัฒนาเข้ามาทำตลาด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ปัจจุบัน บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ มีธุรกิจที่อยู่ภายใต้การบริหารด้วยกัน 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มสินค้าสำหรับผู้บริโภค ประกอบด้วย ธุรกิจเครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำผลไม้ ภายใต้แบรนด์ทิปโก้, น้ำแร่ออร่า และเครื่องดื่มเกลือแร่ทิปโก้ เวฟ นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านอาหาร เช่น ร้านอาหาร August Organic Eatery เป็นร้านอาหารแนว Organic Fusion, ร้าน Squeeze Juice Bar, ร้าน Homsuwan Pina Pina เป็นร้านขนมหวาน ไอศกรีม เครื่องดื่มที่ใช้วัตถุดิบ คือ สับปะรดทิปโก้ หอมสุวรรณ

ส่วนอีกกลุ่มธุรกิจ คือ B2B  ประกอบด้วย ธุรกิจสารสกัด ดำเนินการภายใต้บริษัท ทิปโก้ไบโอเท็ค จำกัด วิจัยและพัฒนาสารสกัดจากธรรมชาติ ทั้งพืชสมุนไพร  และธุรกิจเกษตร เน้นทำผลไม้บรรจุกระป๋องส่งออกไปทำตลาดในประเทศต่างๆ

 


LastUpdate 21/08/2560 00:14:45 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:35 am